หลอกตุ๋นเหยื่อหลายพันล.เจอข้อหา"ฉ้อโกงประชาชน"โทษ24,189กระทงๆละ5ปี
ศาลตัดสินคดีประวัติศาสตร์แชร์ลูกโซ่บลิสเชอร์ สั่งจำคุกจำเลย 3 คน ๆ ละ 120,945 ปี
ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน 24,189 กระทง แต่ตามกฎหมายลงโทษสูงสุดได้แค่จำคุกคนละ 20 ปี เผยเป็นคดีสู้กันยาวนานเกือบ 15 ปี บริษัทแสบโฆษณาหลอกลวงชาวบ้านสมัครสมาชิกจัดสรรวันพักผ่อน “ไทม์แชริ่ง” เรียกหัวละ 3-6 หมื่นบวกค่าบำรุงรายปี ได้ประโยชน์กินเที่ยวพักฟรี 4 วัน 4 คืน นาน 20 ปี ฟันเงินเข้ากระเป๋าหลายพันล้าน
ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ถนน รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 มี.ค.
ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงประชาชน ที่ ด. 4756/2537 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ที่ 1 น.ส.อังสุนีย์ พัฒนานิธิ อดีตกรรมการบริษัท จำเลยที่ 2 น.ส.ปันจวรรณ เบญจมาศมงคล อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 3 นายแสงทอง แซ่กิม อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทและพนักงานฝ่ายขายอิสระ จำเลยที่ 4 และนายอรรณพ หรืออาร์ต กุลเสวตร์ อดีตผู้จัดการสาขาศูนย์สีลม จำเลยที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และ 83 และความผิดตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12 และ 15
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 37 ระบุความผิดสรุปว่า
เมื่อระหว่างปี 2535-2536 บจก.บลิสเชอร์ฯ ได้ประกอบธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือไทม์แชริ่ง ซึ่งได้มีการโฆษณาชักชวนประชาชนให้สมัครบัตรสมาชิกที่มี 2 ประเภทคือ บัตรเงิน ค่าสมาชิกปีละ 30,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 2,500 บาท และบัตรทอง ค่าสมาชิก 60,000 บาท และค่าบำรุงปีละ 4,500 บาท โดย สมาชิกจะได้รับสิทธิที่ใช้บริการที่พักฟรีตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปีนาน 20 ปี
จำคุกแสนปี!แก๊งแชร์บลิสเชอร์
และถ้าสมาชิกสมัครเป็นพนักงานฝ่ายขายอิสระเพื่อหาสมาชิกรายใหม่จะได้ค่านายหน้า 5,000 บาทต่อคน
ซึ่งการสมัครเป็นพนักงานฝ่ายขายอิสระต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกปีละ 1,500 บาท โดยบริษัท กำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทน สัญญาว่าจะจ่ายให้ทุกวันที่ 10, 20 และ 25 ของเดือนโดยเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว เป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเกิน พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2533 ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บจก. บลิสเชอร์ และกรรมการบริหารแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 45 พร้อมทั้งมีคำสั่ง ให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 46 แล้ว ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่าได้นำเงินของสมาชิกมาลงทุนประกอบกิจการของบริษัทในเครือจำเลยเพื่อให้บริการด้านที่พักนั้นเป็นเพียงข้ออ้างลอย ๆ ศาลพิเคราะห์คำเบิกความ และพยานหลักฐานที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่าโจทก์มีนายวิจารณ์ แซ่เบ๊ สมาชิกผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า เมื่อเดือน มิ.ย. 35 ได้เข้าฟังการอบรมเพื่อสมัครเป็นสมาชิกรวมกับคนอื่น ๆ โดยจำเลย 4 และ 5 เป็นผู้ฝึกอบรมชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก
ซึ่งเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกจำเลยไม่ได้แจ้งว่าต้องชำระค่าบำรุงอีกปีละ 2,500 และ 4,500 บาทด้วย
แต่มาแจ้งภายหลังเมื่อได้เป็นสมาชิกแล้ว หากไม่จ่ายก็ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยหลังจากที่รู้ว่าถูกหลอกลวง พยานได้แจ้งร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและการคลัง ศาลรับฟังคำเบิกความพยานโจทก์แล้วจำเลยไม่ได้โต้แย้ง ขณะที่จำเลยที่ 2 เบิกความถึงจำนวนสมาชิกว่ามีกว่า 20,000 คน แต่ไม่ยอมระบุตัวเลขที่แน่นอน ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้อย่างชัดเจนว่ามีประชาชนร่วมสมัครเป็นสมาชิกรวม 24,189 คน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.ก. กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
ศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 2, 4 และ 5 ฐานฉ้อโกงประชาชน 24,189 กระทง
จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 2, 4 และ 5 คนละ 120, 945 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น จึงจำคุกจำเลยที่ 2, 4 และ 5 คนละ 20 ปี และให้นับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากคดีอาญาซึ่งศาลอาญาพิพากษาเป็นเวลา 17 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่พบว่าเข้าไปเกี่ยวข้องในการวางแผนบริหาร กำหนดนโยบาย และแผนการตลาด จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 3 ส่วนที่โจทก์ขอศาลมีคำสั่งให้จำเลยร่วมกันชำระหนี้คืนสมาชิกนั้นเห็นว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้ว 163.252 ล้านบาท และให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายจึงไม่อาจมีคำสั่งอื่นได้อีก โดยภายหลัง ที่ฟังคำพิพากษาแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัว น.ส.อังสุนีย์ จำเลยที่ 2 นายแสงทอง จำเลยที่ 4 และนายอรรณพ จำเลยที่ 5 ไปยังห้องควบคุมใต้ถุนศาลอาญาทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
คดีนี้นับว่ามีการต่อสู้ทางคดีมาเนิ่นนานเกือบ 15 ปี เนื่องจากมีการสืบพยานโจทก์ พยานจำเลย และพยานเอกสารจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้เวลานานและ ถือว่าเป็นคดีที่มีการลงโทษจำคุกจำเลยมากที่สุดนับคนละแสนปีเท่าที่ศาลเคยมีคำพิพากษามา และประชาชนได้รับความเสียหายนับหลายพันล้านบาท อย่างไรก็ตามสามารถจำคุกจำเลยได้จริงคนละ 20 ปี ตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น.