เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่โรงแรมเอเชีย มีการประชุมนานาชาติ
เรื่อง "การตลาดขนมเด็ก" นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่าขณะนี้มีคนอ้วน 1,000 ล้านคน จำนวนนี้ 22 ล้านคนเป็นเด็กอายุเพียง 0-5 ปี ซึ่งไทยมีเด็กอ้วนเพิ่มอย่างรวดเร็ว จนองค์การอนามัยโลกยกตัวอย่างว่าเป็นประเทศที่มีเด็กอ้วนเพิ่มเร็วที่สุดประเทศหนึ่ง
โดยช่วงปี 2547-2549 เด็กไทยอายุ 5-12 ปีมีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มถึงปีละเกือบ 1 แสนคน
รวมแล้วปัจจุบันเด็กวัยเรียนเป็นเด็กอ้วนถึง 1 ล้านคน งานวิจัยพบเด็กอ้วนจะมีไขมันสูงในเลือดกว่า 50% และ 25% ของเด็กที่มีน้ำหนักปกติก็มีไขมันในเลือดสูงเช่นกัน หนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอ้วนคือภาวะโภชนาการเกิน โดยเฉพาะการบริโภคขนมกรุบกรอบที่มากเกินไปแทนอาหารหลัก
นายโคทม กล่าวต่อว่า ตลาดการบริโภคขนมกรุบกรอบขยายตัวขึ้นทุกปี
ในปี 2549 ขนมขบเคี้ยวมีมูลค่าการตลาด 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2550 สูงถึง 1.3 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าการตลาดที่แท้จริงหากรวมการซื้อขนมที่ไม่บรรจุหีบห่อ คือปีละกว่า 1 แสนล้าน สอดคล้องกับข้อมูลว่าเด็กอายุ 5-18 ปีใช้เงินซื้อขนมขบเคี้ยวปีละเป็นแสนล้าน เห็นได้ชัดว่าการบริโภคมีแต่เพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกห่วงใยเรื่องนี้มาก ถือเป็นปัญหาระดับโลก นักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคนานาชาติ จึงจัดประชุม"การตลาดขนมเด็ก"ขึ้นครั้งแรกในอาเซียน โดยไทยเป็นเจ้าภาพ มีผู้ร่วมประชุมกว่า 200 คน ระดมความเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ด้านดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผจก.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องนี้ มากกว่า 10 ประเทศ
อาทิ อังกฤษ เกาหลี แคนาดามีมาตรการเพื่อป้องกันอย่างเข้มข้น อาทิจำกัดการโฆษณาไปจนถึงห้ามโฆษณาขนมเด็ก และในปี 2552 องค์การอนามัยโลกจะจัดประชุม"ความมั่นคงทางโภชนาการ" ครั้งที่ 19 เป็นอีกครั้งที่ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้ประชุมจากทั่วโลกกว่า 5 พันคน เพื่อหาทางออกไม่ให้โลกนี้เต็มไปด้วยเด็กอ้วนอมโรค ส่วนไทยที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มภาษีกับสินค้าที่ไม่จำเป็นนั้น น่าจะนำมาตรการทางภาษีมาใช้กับสินค้าที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ
อาทิน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ลูกอม ช็อกโกแลต อาหารฟาสต์ฟู้ด
รวมทั้งน่าจะมีมาตรการทางภาษี หรือการสนับสนุนจากรัฐให้มีการจัดอาหารที่เป็นประโยชน์ในโรงเรียน ซึ่งเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกเสนอให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้กับปัญหาคนอ้วนล้นโลกขณะนี้