พบซากลิงดึกดำบรรพ์ 13ล้านปี

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

แถลงข่าวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีพัฒนาการสูงสุด หรือ สัตว์กลุ่มไพรเมต ที่มีอายุถึง 13 ล้านปี โดยนักธรณีวิทยาสามารถขุดพบชิ้นส่วนกรามล่างพร้อมฟัน จำนวน 4 กราม อยู่ในชั้นถ่านหินของเหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ถือเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยให้ชื่อว่า สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส (Siamoadapis maemohensis)

นายอภิชัย กล่าวว่า ซากดึกดำบรรพ์ของไพรเมตชิ้นนี้มีความสำคัญมากด้านคุณค่าทางวิชาการ
 
ในการศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของสัตว์ในกลุ่มนี้ซึ่งมีความใกล้เคียงและใกล้ชิดกับมนุษย์มาก ที่ผ่านมาเคยขุดพบซากดึกดำบรรพ์ในกลุ่มไพรเมตในประเทศแถบทวีปเอเชียเท่านั้น เช่น พม่า อินเดีย ปากีสถาน จีน และไทย แต่กลับปรากฏว่าไม่มีสัตว์ชนิดนี้อยู่ในทวีปเอเชียในปัจจุบันเลย แต่พบมากที่เกาะมาดากัสการ์ของทวีปอเมริกาใต้

ดร.เยาวลักษณ์ ชัยมณี นักธรณีวิทยา 8 สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์ และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และคณะ ตามโครงการความร่วมมือสำรวจศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไทย-ฝรั่งเศส หัวหน้าผู้ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ไพรเมตดังกล่าว กล่าวว่า

ไพรเมตเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีวิวัฒนาการสูงสุด อันได้แก่ สัตว์จำพวกลิงลม(lemurs), ลิง(monkeys) และลิงไม่มีหาง(apes) รวมถึงมนุษย์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ไพรเมตจมูกแห้ง หรือ ฮาโปลรีน ประกอบด้วย ลิง, เอล มนุษย์ และทาร์เซีย ส่วนไพรเมตจมูกเปียก หรือ สเตรปสิรีน ประกอบด้วย ลีเมอร์ และลิงลม ลักษณะของไพรเมตกลุ่มนี้คือจมูกเชื่อมกับริมฝีปากบน ส่วนใหญ่จะมีฟันหน้าและฟันเขี้ยว ด้านล่างลักษณะคล้ายหวี หากินกลางคืน ดมกลิ่นได้ดี สมองเล็กและมีวิวัฒนาการน้อย

"ซากดึกดำบรรพ์ที่เราค้นพบเป็นชิ้นส่วนกรามล่างพร้อมฟัน 4 กราม มีฟันเล็กๆ อยู่ 2-3 ซี่ ขุดพบในชั้นถ่านหินลึกลงไป 500 เมตรบริเวณเหมืองถ่านหินแม่เมาะ เมื่อปี"47 จากนั้นได้นำซากดังกล่าวไปเทียบเคียงกับซากเดิมที่เคยขุดพบ พบว่าซากนี้ไม่ตรงกับซากเดิมๆ เหล่านั้น จากการศึกษาพบว่าซากไพรเมตที่พบจัดอยู่จำพวกไพรเมตจมูกเปียก วงศ์ศิวะอะเดปิเด พบเฉพาะในทวีปเอเชียเท่านั้น ตั้งแต่ช่วงเวลาอีโอซีน หรือ 40 ล้านปี และสูญพันธุ์ในสมัยไมโอซีนตอนปลาย หรือ 8 ล้านปี หลังการศึกษาได้รับการยอมรับและตีพิมพ์เผยแพร่ ผลการศึกษาในวารสาร Journal of Human Evolution ฉบับที่ 54 หน้าที่ 434-443 จึงให้ชื่อว่า สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส(Siamoadapis maemohensis) ถือว่ามีขนาดเล็กที่สุดในวงศ์ศิวะอะเดปิด น้ำหนักราว 500-700 กรัม จากลักษณะขนาดตัวและลักษณะฟัน คาดว่าเป็นไพรเมตที่กินผลไม้ ใบไม้ และแมลงเป็นอาหาร หากินในเวลากลางคืน ยาว 15 เซนติเมตร หรือเล็กเพียงครึ่งหนึ่งของลิงลม หางยาว เกาะต้นไม้คล้ายกับลีเมอร์ที่เกาะมาดากัสการ์" ดร.เยาวลักษณ์กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์