วันนี้ (24 ก.พ.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความเชื่อมั่นของประชาชนก่อนและหลังการอภิปรายนโยบายรัฐบาลและความตั้งใจจะไปเลือกตั้ง ส.ว.ของประชาชน พบว่า
ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวการเมืองอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ผลสำรวจพบว่า สิ่งที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับแรกจากความคิดเห็นของประชาชนคือ ประชาชนมองว่า นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะทำให้รัฐบาลได้เสียงสนับสนุนจากสาธารณชนโดยมีคะแนนเฉลี่ย 5.47 ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลที่ผลสำรวจพบว่าได้เป็นอันดับที่สอง ด้วยค่าคะแนนเฉลี่ย 5.35 ได้แก่ การที่ประชาชนมองว่า นโยบายรัฐบาลจะทำให้ประชาชนรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว
โพลชี้รัฐบาลเผชิญช่วงลำบาก ปชช.สงวนท่าทีให้ความเชื่อมั่น
เมื่อเปรียบเทียบความเชื่อมั่น
ของประชาชนต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันในอีก 6 เดือนข้างหน้าเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลังการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า ค่าคะแนนความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลที่จะสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างแท้จริง เพิ่มขึ้นจาก 4.26 มาอยู่ที่ 5.42 อย่างไรก็ตาม ค่าความเชื่อมั่นในประเด็นอื่นยังคงต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแต่ก็สูงขึ้นเล็กน้อยในทุกตัว ได้แก่ ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 4.31 มาอยู่ที่ 4.54 ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะไม่มีปัญหาแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 3.76 มาอยู่ที่ 3.96 แต่ที่น่าเป็นห่วง ถึงแม้ความเชื่อมั่นสูงขึ้นแต่ถือว่ามีความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างน้อยมาก คือความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในผลงานปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น เพิ่มจาก 3.62 เป็น 3.81 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
นายนพดล กล่าวว่า ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า
รัฐบาลอาจกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะถึงแม้จะพยายามนำนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในอดีตมาปรับใช้ แต่ประชาชนยังคงสงวนท่าทีในการแสดงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในผลสำรวจล่าสุดนี้ ตรงกันข้ามกลับแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลต่อประชาชนและสังคมโดยรวม รัฐบาลจึงต้องคิดต่อว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญทำให้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นเช่นนี้ในจุดตั้งต้นการทำงานของรัฐบาล
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวต่อว่า
สิ่งที่สังคมน่าจะช่วยกันพิจารณาคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เรื่องราวทางการเมืองในอดีตยังคงอยู่ในความทรงจำไม่ได้จางหายไปในหมู่ประชาชนจำนวนมากอย่างน้อยประมาณ 1 ใน 3 เช่น ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความเคลือบแคลงสงสัยในตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ความแตกแยกแบ่งขั้วของคนในสังคม ปฏิกิริยาต่อต้านรัฐประหาร และความผิดหวังต่อการทำงานของรัฐบาลชุดก่อน เป็นต้น
จึงทำให้เสียงสนับสนุนจากประชาชนต่อนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่หวือหวาเด่นชัดนัก
ประชาชนอาจกำลังเก็บรายละเอียดและความไม่ชอบอะไรบางอย่างอยู่ในใจ แต่ปล่อยให้รัฐบาลทำงานไปสักระยะหนึ่งก่อน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลน่าจะคำนึงถึงคือ เมื่อมีอำนาจรัฐในมือแล้ว ต้องเร่งทำงานหนักและต้องคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร และไม่ใช่ว่าสังคมไม่โต้ตอบอะไร แต่สังคมอาจกำลังรอวันเวลาที่เหมาะสมในการแสดงสาธารณมติให้กับรัฐบาลรับรู้ในทางสนับสนุนหรือต่อต้านอย่างสมน้ำสมเนื้อ