เที่ยวงานไม้ดอกที่อ่างขาง ชิมสตรอเบอร์รี่หวานพันธุ์80

ผัก ผลไม้ ปลอดสารเคมี สตรอเบอร์รี่ฉ่ำหวาน ซาบซ่านชิมชาดี บอนไซดอกไม้หลากสี ธรรมชาติอากาศดี "ที่นี่อ่างขาง" สโลแกนเชิญชวนมาเที่ยวดอยอ่างขาง อันเป็นที่ตั้งสถานีวิจัยเกษตรครบวงจรแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวงภายใต้ชื่อสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง


ทีมงาน "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้จะพาไปสัมผัสไอหนาวยะเยือกบนดอยอ่างขาง

พร้อมตื่นตาตื่นใจกับไม้ดอกเมืองหนาวหลากสีนับร้อยสายพันธุ์ที่กำลังชูช่อบานสะพรั่งต้อนรับผู้มาเยือนในงานไม้ดอกเมืองหนาวโครงการหลวง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-29 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ การไปอ่างขางครั้งนี้ ทีมงานพร้อมคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กว่า 20 ชีวิต นำโดยรองอธิการบดี "ผศ.มยุรี เทศผล" ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคุณสมชาย เขียวแดง หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้รับผิดชอบงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาว ทำหน้าที่ไกด์พาไปดูตามจุดต่างๆ ที่น่าสนใจ


คุณสมชายย้อนอดีตให้ฟังว่า จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาบนดอย

และทอดพระเนตรเห็นการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย จึงมีพระราชดำริให้ชาวเขาที่อยู่อาศัยตามดอยต่างๆ ในภาคเหนือเลิกการปลูกฝิ่น จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น เป็นโครงการส่วนพระองค์ในปี 2512 ทรงแต่งตั้ง ม.จ.ภีศเดช รัชนี เป็นองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง


"สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ถือเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวงที่ใช้เป็นสถานที่วิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เช่น ไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น" หัวหน้าสถานีคนเดิมเผย
 

ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านคุ้ม หมู่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ใช้ในการทำวิจัยประมาณ 1,200 ไร่ โดยมีหมู่บ้านที่สถานีให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านปางม้า บ้านขอบด้ง และบ้านนอแล มีเกษตรกรชาวเขาที่สถานีเข้าไปส่งเสริมอาชีพ ได้แก่ 4 ชนเผ่าด้วยกันคือ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนยูนนาน


หลังจากได้ฟังสรุปถึงประวัติความเป็นมาของสถานีและผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนนำไปขยายผลสู่เกษตรกรตามดอยต่างๆ จากนั้นทั้งหมดก็ออกเดินทางสู่แปลงทดลองไม้ผลขนาดเล็ก สวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว และศูนย์สาธิตการใช้ไม้สมพรสหวัฒน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถานี 


หนึ่งในนั้นคือแปลงทดลองวิจัยสตรอเบอร์รี่ อยู่ห่างจากที่ทำการสถานีไปทางทิศเหนือประมาณ 300 เมตร

ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ ภายในจะมีสตรอเบอร์รี่สายพันธุ์ต่างๆ อยู่ประมาณ 6 สายพันธุ์ แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือพันธุ์พระราชทาน 80 และสตรอเบอร์รี่ดอย เนื่องจากเป็นสตรอเบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ที่ทีมวิจัยเพิ่งประสบผลสำเร็จ เมื่อปี 2550 หลังใช้เวลาทำการวิจัยยาวนานถึง 6 ปีเต็ม


"พันธุ์พระราชทาน 80 นี้ เราเพิ่งประสบผลสำเร็จเมื่อปีที่แล้วนี่เอง จุดเด่นของมันอยู่ที่ลำต้นใหญ่ แข็งแรง ให้ผลดก มีขนาดใหญ่ รสชาติหวานฉ่ำ หรือหวานนำ ต่างจากพันธุ์อื่นๆ  ขณะนี้เรากำลังเร่งผลิตกล้าพันธุ์เพื่อเตรียมขยายผลสู่เกษตรกร คาดว่าประมาณกลางปีนี้ก็จะทยอยลงสู่แปลงเกษตรกรได้"


ดร.ณรงค์ชัย หัวหน้าทีมวิจัยสตรอเบอร์รี่ กล่าวถึงสตรอเบอร์รี่พันธุ์ใหม่พันธุ์พระราชทาน 80 ที่เพิ่งค้นพบเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังใช้เวลาดำเนินการทดลองวิจัยมากกว่า 6 ปี

ส่วนที่มาของชื่อพันธุ์นี้ก็เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคและแมลง รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกในพื้นที่โครงการหลวง โดยใช้สารชีวภาพและสารสมุนไพรเข้ามาช่วยในการผลิตสตรอเบอร์รี่ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่า สายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ที่ส่งเสริมในปัจจุบันมีความสดและปลอดภัยจากสารเคมี


หัวหน้าทีมวิจัยสตรอเบอร์รี่คนเดิม กล่าวอีกว่า

นอกจากสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 ที่เป็นไฮไลท์ของสถานีแล้ว ยังมีสตรอเบอร์รี่ดอยซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ถือว่ามีความโดดเด่นไม่แพ้กัน แม้ว่าจะมีผลขนาดเล็กกว่า รสชาติหวานค่อนไปทางอมเปรี้ยว แต่ก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะให้ความสนใจสตรอเบอร์รี่พันธุ์นี้มากเป็นพิเศษ สนนราคาจำหน่ายอยู่ที่ 400-450 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่พันธุ์พระราชทาน 80 อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาทเท่านั้นเอง
 

"ตอนนี้ผลผลิตสตรอเบอร์รี่ดอยทั้งหมดเราจะส่งให้โรงแรมโอเรียนเต็ล เขาบอกว่าผลิตได้เท่าไรเขารับซื้อหมด ตอนนี้ก็ยังผลิตให้เขาไม่พอ เพราะฝรั่งชอบมาก ขณะที่คนไทยจะไม่ชอบกิน เพราะรสชาติเปรี้ยวนำ ไม่เหมือนพันธุ์พระราชทาน 80 ที่มีความหวานมากกว่า" ดร.ณรงค์ชัย เผยจุดเด่นสตรอเบอร์รี่ดอย


นี่เป็นส่วนหนึ่งของความศิวิไลซ์ ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นอกจากจะได้สัมผัสไอหนาวบนยอดดอย ชมไม้ดอกที่กำลังบานสะพรั่ง ยังได้มีโอกาสลิ้มลองสตรอเบอร์รี่พันธุ์ใหม่ "พันธุ์พระราชทาน 80 และสตรอเบอร์รี่ดอย" โดยฝีมือทีมนักวิจัยจาก ม.เกษตรศาสตร์ อีกด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์