ความสำเร็จของแพทย์ รพ.รามาธิบดีครั้งนี้เป็นที่เปิดเผย เมื่อวันที่ 19 ก.พ.
โดยที่ห้องประชุม 1 สำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะ-นาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี แถลงถึงความสำเร็จการผ่าตัดหมอนรองกระดูกหลัง ด้วยการสอดกล้อง หรือ Full Endoscopic Spinal Surgery สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดีและ รพ.กรุงเทพ
พ.ท.นพ.วีรพันธ์ ควรทรงธรรม อาจารย์ประจำหน่วยประสาทศัลยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คนไข้จะมาด้วยอาการปวดหลัง ร้าวลงขา ชา อ่อนแรง การรักษาในปัจจุบันจะเป็นการใช้ยาและทำกายภาพบำบัด ประมาณ 3-6 เดือน ถ้าไม่ดีขึ้นจึงจะทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดก็เพื่อเอาหมอนรองกระดูก ออกจากเส้นประสาท หลังจากที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่หาย ทั้งนี้ การผ่าตัดแบบเดิม แผลผ่าตัดจะยาวถึงประมาณ 4 เซนติเมตร และอาจทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ส่วนวิธีใหม่คือการผ่าตัดด้วยการสอดกล้องนี้ จะไม่ต้องงัดกล้ามเนื้อออก ใช้เครื่องมือสอดผ่านกล้อง เพื่อไปหนีบหมอนรองกระดูกออก แผลผ่าตัดจะยาวประมาณ 0.9 เซนติเมตรเท่านั้น รวมถึงความเสียหายต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น น้อยมาก
ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อย กลับบ้านได้ภายใน 1 คืน หรืออาจจะไม่ต้องนอนพักใน รพ.เลย
ซึ่งผู้คิดค้นวิธีการผ่าตัดด้วยกล้องนี้ เป็นแพทย์ชาวเยอรมัน โดยได้ทำการผ่าตัดคนไข้แล้ว 5,000 ราย พบว่า 86% ผลการผ่าตัดได้ผลดี สำหรับในประเทศไทย ทีมแพทย์ไทยได้ไปฝึกการผ่าตัดศพที่เยอรมนีมาก่อน และได้ไปร่วมผ่าตัดกับแพทย์ที่เยอรมนีในคนไข้มาแล้ว 32 ราย จึงกลับมาทำการผ่าตัดในประเทศไทย เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขณะนี้ได้ผ่าตัดคนไข้ไปแล้ว 1 ราย ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ
พ.ท.นพ.วีระพันธ์กล่าวอีกว่า ในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้ จะมีการเปิดสอนวิธีการผ่าตัดโดยการสอดกล้องให้กับแพทย์ไทย
โดยจะมีการสาธิตการผ่าตัดจริงที่ รพ. กรุงเทพ ร่วมกับแพทย์จากเยอรมนีและถ่ายทอดสดมาที่ รพ.รามาธิบดี จากนั้นจะให้แพทย์ที่เข้ารับการอบรมได้ทดลองผ่าตัดในศพที่ รพ.รามาธิบดีด้วย ส่วนค่า ใช้จ่ายในการผ่าตัด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกำหนดราคา แต่เชื่อว่าจะไม่สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการผ่าตัด แบบเดิม อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ ใช้เวลาในการผ่าตัดแค่ประมาณ 20 นาที คนไข้ไม่ต้องบาดเจ็บจากการผ่าตัดมาก และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพักรักษาตัวใน รพ.นาน ซึ่งนอกจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้ว เคยมีการใช้เทคนิคนี้ไปใช้ในการผ่าตัดโรคกระดูกเสื่อมในคอ คนไข้ที่หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกงอก แคลเซียมมาเกาะ ไปกดทับเส้นประสาท