เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ผู้สื่อข่าวเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบสุขภาพข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำทั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2550 จำนวนทั้งสิ้น 108,763 นาย
ว่า มีผู้ที่มีผลการตรวจผิดปกติ จำนวน 79,558 นาย หรือคิดเป็นร้อยละ 73.15 แบ่งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร 5,934 นาย ชั้นประทวน 42,898 นาย ลูกจ้างประจำ 265 นาย และไม่ระบุตำแหน่ง 57,666 นาย ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็นกำลังพลของ บช.ภ.3 คิดเป็นร้อยละ 12.32 รองลงมาเป็น บช.ภ.4 คิดเป็นร้อยละ 9.54 โดยผู้ที่มีผลการตรวจผิดปกติ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 36 ปีขึ้นไป
สำหรับภาวะโรคที่ตรวจพบความผิดปกติ 10 อันดับ แรก ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง 33,876 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32.80 น้ำหนักเกินมาตรฐาน 11,131 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.78 ความดันโลหิตสูง 9,957 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.64 โรคอ้วน 5,379 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.21 เบาหวาน 5,089 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.93 น้ำตาลในเลือดสูง 4,971 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.81 กรดยูริกในเลือดสูง 3,351 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.24 โลหิตจาง 2,511 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.43 ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง 1,218 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.18 การทำงานของตับผิดปกติ 1,193 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.16
ทั้งนี้ จากการสรุปภาวะของโรคที่เกิดขึ้นเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องและมีพฤติ-กรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคด้วยการสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ซึ่งสามารถป้องกันได้ และควรได้รับการดูแลรักษาเมื่อ ตรวจพบโรค เพื่อคุณภาพที่ดีและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ
พล.ต.ต.สมยศ ดีมาก รอง ผบช.รพ.ตร. และโฆษก รพ.ตร. กล่าวว่า การตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีของข้าราชการตำรวจเป็นหนึ่งใน 28 โครงการของแผนพัฒนาตำรวจและครอบครัว ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นของสุขภาพตำรวจแต่ละนาย ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติ เช่น มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน จะนำไปสู่การแก้ไขหรือรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ของ รพ.ตร.ในส่วนกลาง กับคลินิกตำรวจหรือแพทย์ของ รพ.ประจำจังหวัดที่ใกล้เคียง เพื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความผิดปกติจะได้แก้ไขและพัฒนาตัวเองให้มีสมรรถภาพร่างกายดีขึ้น พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ ราชการอย่างเต็มความสามารถ
พล.ต.ต.สมยศกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพข้าราชการตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชร-พุกก์ รอง ผบ.ตร.บร. เป็นประธาน ได้ประชุมหารือได้ข้อสรุปเตรียมดำเนินการ 3 โครงการ กับตำรวจใน กทม.และใกล้เคียงในเบื้องต้นคือ 1. ตำรวจไร้พุง 2. โรงพักปลอดบุหรี่ และ 3. ตำรวจจราจรปอดใสสะอาด ทั้งหมดนี้ถือเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากนิยามของความดันโลหิตสูง เปลี่ยนไปอยู่ที่ระดับ 80-130 แต่ขณะนี้มีตำรวจที่มีความดันโลหิตสูงกว่ามาตรฐานแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมี-ยาเวส ผบ.ตร. มีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตำรวจและครอบครัวเป็นอันดับแรก น่าจะช่วยกระตุ้นให้ข้าราชการตำรวจทั่วประเทศใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น