จากสภาพอากาศที่ร้อนสลับมีฝนตก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงเตือนภัยโรคที่มากับสภาพอากาศที่แปรปรวน
โดยเมื่อวันที่ 17 ก.พ. นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปี 2551 คาดว่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จากการเฝ้าระวังโรคในปี 2551 ตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงวันที่ 9 ก.พ. รวม 40 วัน มีรายงานผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ 2,824 ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 70 อยู่ในภาคกลาง มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2550 ซึ่งมีผู้ป่วยเพียง 1,702 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต พบว่าจำนวนผู้ป่วยปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66 และมีสัญญาณว่าโรคไข้เลือดออกจะพบในเด็กโตมากขึ้น การพบผู้ป่วยเพียง 1 ราย เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นๆ อาจมีคนติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการอีกนับ 100 คนได้
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ประเมินสถานการณ์ว่าแนวโน้มการป่วยโรคนี้ในปี 2551 จะรุนแรงและจะมีการระบาดในวงกว้าง เนื่องจากผลจากโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ยุงลายพัฒนาตัว ไข่จะฟักเป็นตัวเร็วขึ้น และทนแล้งได้นานขึ้น
นพ.ปราชญ์กล่าวอีกว่า โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์
คือ 1, 2, 3, 4 จากการเฝ้าระวังเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยไข้เลือดออกที่พบในปีนี้ แนวโน้มเป็นสายพันธุ์ที่ 2 มากขึ้น ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่พบในสายพันธุ์ที่ 1 มากกว่า โดยหากเป็นการติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งแรก อาการจะไม่รุนแรง หลังติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อต้นเหตุนั้น แต่หากติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 จะทำให้อาการรุนแรงกว่า เนื่องจากเป็นเชื้อต่างสายพันธุ์ ทำให้เกิดการเสียเลือดและช็อกเสียชีวิตได้ จากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำปฏิกิริยากับเชื้อไวรัส ทำให้มีการรั่วซึมของน้ำเลือดในเส้นเลือด ส่งผลให้เกล็ดเลือดต่ำ เลือดจะออกง่ายขึ้น เนื่องจากเชื้อมี 4 สายพันธุ์ โดยคน 1 คน อาจป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้งตลอดชีวิต เป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำอีกได้