เดย์จับจริงทั่วประเทศ 8 พ.ค.นี้ ฮัลโหลมือถือขณะขับรถ หลังจากที่ประชาสัมพันธ์มาระยะหนึ่งแล้ว ยกเว้นใช้อุปกรณ์เสริม หรือแฮนด์ฟรี ชี้ถูกจับมีโทษปรับ 400-1,000 บาท โดยจะมีการถ่ายภาพ หรือตั้งด่านจับเช่นเดียวกับการตรวจจับความเร็ว
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. มีรายงานข่าวจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) แจ้งว่า
จากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2550 ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.นี้เป็นต้นไป โดยได้เพิ่มข้อความในมาตรา 43 ห้ามขับรถในขณะที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องถือ หรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับตั้งแต่ 400- 1,000 บาท
ทั้งนี้การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ในการพิจารณาของ ครม.และ สนช.ชุดก่อนได้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาและมีการประชุมและตีกลับกฎหมายหลายครั้ง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ได้มีการนำข้อมูลและผลการศึกษาของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณาของกรรมาธิการ ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่มีการกำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เสริมทุกชนิด รวมทั้งแฮนด์ฟรี ในขณะที่ขับขี่รถ 4 ประเทศ คือ อิสราเอล ญี่ปุ่น โปรตุเกส และสิงคโปร์
สำหรับประเทศที่กำหนดห้ามใช้โทร ศัพท์มือถือ แต่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เสริมและแฮนด์ฟรีในขณะขับรถได้ มี 21 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ฟินแลนด์ ฮังการี กรีซ อียิปต์ ตุรกี แอฟริกาใต้ ชิลี เคนยา อินเดีย ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เป็นต้น ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ผู้ที่ถือโทรศัพท์ในขณะขับรถจะมีความผิด ตำรวจสามารถจับกุมได้ทุกที่
ในส่วนของพื้นที่ กรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ฝ่ายจราจร กล่าวว่า บช.น. ได้เร่งประชาสัมพันธ์ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถผ่านป้ายสลับข้อความทั้ง 80 ป้ายทั่วกรุงเทพฯมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้บนทางด่วน และบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก็ได้มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์เช่นกัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลครอบคลุมในทางทุกประเภท และบังคับใช้กับผู้ขับรถทุกชนิด โดยเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ก็พร้อมจะกวดขันจับกุมทันที โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้ทันทีหากพบว่า ผู้ขับขี่มีการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ หรือการตั้งด่านและถ่ายภาพ เช่นเดียวกับกรณีการตั้งด่านจับความเร็ว จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ขับรถ งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือขณะ ขับรถ หากมีความจำเป็นควรใช้อุปกรณ์เสริม หรือแฮนด์ฟรี เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ.