จากกรณีกาแฟนำเข้ายี่ห้อเมจิค ที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านขายเครื่องสำอางในห้างแห่งหนึ่ง และมีการติดประกาศอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นกาแฟสมุนไพรสกัดจากเม็ดเก๋ากี้ ช่วยเพิ่มพลังให้แก่เพศชายอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดการหงุดหงิด เหมาะสมสำหรับสุภาพบุรุษที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่ต้องการเพิ่มพลังทางเพศ ฟื้นฟูความภาคภูมิใจของชาย เพิ่มความสุขแห่ง ชีวิต ดื่มแล้วเห็นผล 100 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปสังเกตที่ร้านดังกล่าว
พบว่าทางร้านได้ปลดป้ายประกาศและเก็บสินค้าออกจนหมด แต่ก็ยังมีบรรดาชายเดินทางไปหาซื้อกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อทางร้านปฏิเสธที่จะขายสินค้าดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว และในเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ อย.กลุ่มหนึ่งเดินทางมาตรวจสอบที่ร้านขายเครื่องสำอางดังกล่าว แต่ไม่พบกาแฟ ปลุกเซ็กซ์ยี่ห้อดังกล่าวแต่อย่างใด ทางเจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเจ้าของร้านอาจจะเกิดความกลัว จึงเก็บสินค้าไว้ไม่ยอมนำออกมาจำหน่าย
ในเวลาต่อมา ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากกองควบคุมอาหาร ไปตรวจสอบการจำหน่ายและการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม โดยปกติกาแฟนำเข้าหรือผลิตในประเทศ อย.จะดูแลในเรื่องของฉลาก ที่ต้องแจ้งส่วนผสมว่ามีส่วนผสมอะไรที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ รวมทั้งกำหนดให้มีฉลากภาษาไทยกำกับให้ชัดเจน ส่วนใหญ่ผู้ผลิตก็มักจะใส่ส่วนผสมที่เป็นสมุนไพร เช่น เก๋ากี้ โสม เห็ดหลินจือ หรือแม้แต่คอลลาเจน ถือเป็นสูตรเฉพาะที่ อย.ไม่ได้ห้าม แต่ประเด็นสำคัญก็คือการโฆษณาสรรพคุณของสินค้า ที่ผ่านมา อย.เคยดำเนิน คดีกับผู้ผลิตและนำเข้ากาแฟผสมคอลลาเจน ที่โฆษณาสรรพคุณว่าชะลอความแก่ ช่วยให้เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น ที่ถือว่าโฆษณาเป็นเท็จและเกินจริง ในกรณีของกาแฟชนิดนี้ก็เข้าข่ายเช่นเดียวกัน อย.จะเร่งดำเนินการสรุปสำนวน หลักฐาน เพื่อดำเนินคดีและดูความเชื่อมโยงของการโฆษณาสินค้าว่ามีการโฆษณาที่เป็นเท็จหรือไม่ หากโฆษณาเป็นเท็จ จะมีโทษถึงจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
“ที่ผ่านมาผู้ผลิตมักเลี่ยงกฎหมายโดยการไม่ โฆษณาที่ข้างกล่องหรือบนตัวผลิตภัณฑ์ แต่แยกโฆษณาต่างหาก กรณีเช่นนี้ก็สามารถที่จะตรวจสอบและเอาผิดได้ หากมีการโฆษณาเชื่อมโยง เช่น เขียนป้ายโฆษณา และนำสินค้าไปตั้งไว้ใกล้ๆ กัน ก็ถือว่ามีเจตนาโฆษณาเป็นเท็จ”
นพ.ศิริวัฒน์กล่าว
และว่าในวันที่ 11 ก.พ.นี้ จะสั่งการให้สารวัตรอาหารและยาเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาตรวจ พิสูจน์ ว่ามีการผสมตัวยาที่มีผลต่อการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศลงในกาแฟชนิดนี้หรือไม่ ถ้ามีก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาด้วย ฐานโฆษณาสรรพคุณเป็นยา และใส่ส่วนผสมที่เป็นยาลงไปในผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร รวมทั้งจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้อย่างใกล้ชิดด้วย
เลขาธิการ อย.ยังกล่าวอีกว่า
โดยปกติเก๋ากี้ หรือสมุนไพรพวกโสม จะมีสรรพคุณเพียงแค่ส่งเสริมสุขภาพไม่ถึงขั้นเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ถ้าคนที่ซื้อไปรับประทานแล้วได้ผลตามที่โฆษณา อาจมีสาเหตุอยู่ 2 อย่างคือ อุปาทาน กับผสมยาปลุกเซ็กซ์ใส่ลงไป ในกรณีหลัง นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายตามที่ได้ให้รายละเอียดแล้ว ผู้ที่มีโรคประจำตัวกินเข้าไปยังอาจเกิดอันตรายได้ อีกด้วย ที่ผ่านมา อย.เคยดำเนินคดีกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารบางตัวที่แอบใส่ยาลดความอ้วน ซึ่งเป็นยาที่ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทลงไป นอกจากจะเป็นอันตรายแล้ว ยังต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอีกด้วย