ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานีรายงานราคาสินค้ารับเทศกาลตรุษจีนประจำปี 2551 ปรากฏว่า
ราคาสินค้าทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาขายปลีกเนื้อหมูตามแผงจำหน่ายมีการปรับราคาขึ้นมาตลอดเดือนม.ค.ที่ผ่านมาถึง 5 ครั้ง ทำให้ปัจจุบันราคาเนื้อหมูชำแหละ โดยเนื้อสันนอกที่ตลาดค้าส่งเทศบาลเมืองวารินชำราบขายกิโลกรัมละ 110 บาท ขึ้นจากเดิมที่มีราคาขายเพียงกิโลกรัมละ 85 บาท เนื้อหมูแดงกิโลกรัมละ 100 บาท ซี่โครงหมูกิโลกรัมละ 90 บาท เนื้อหมูสามชั้นกิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนมันหมูก็มีราคาถึงกิโลกรัมละ 65 บาท คิดเฉลี่ยชิ้นส่วนต่างๆ ของเนื้อหมูชำแหละขึ้นราคารวมทั้งสิ้นกิโลกรัมละ 15-25 บาท
สำหรับสาเหตุการปรับตัวขึ้นของราคาเนื้อหมูผู้จำหน่ายกล่าวว่า
มีปัจจัยจากภาวะค่าการตลาด ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนการขนส่ง และราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ปัจจุบันซื้อขายกิโลกรัมละ 56 บาท เพราะวงจรของลูกหมูได้ถูกทำลายลงเมื่อ 4 เดือนก่อน โดยกลุ่มผู้ผลิตลูกหมูและฟาร์มเลี้ยงหมูรายย่อยตั้งแต่ 1,000-5,000 ตัว ถูกกลุ่มผู้ค้าหมูรายใหญ่ทุบราคา ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องทุบเล้าทิ้ง เพราะขาดทุนจากการผลิตลูกหมูและการเลี้ยงหมู
หลังกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยพากันเลิกกิจการ
กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ก็สามารถควบคุมกลไกการตลาดการซื้อขายเนื้อหมูได้ จึงเริ่มกักตุนปริมาณเนื้อหมูให้ออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการดันราคาเนื้อหมูชำแหละที่หน้าเขียงจำหน่ายตามมา นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี ยังได้รับผลกระทบจากการสั่งซื้อเนื้อหมูจากประเทศลาว ซึ่งมีความต้องการเนื้อหมูไปปรุงอาหารประกอบเลี้ยงและจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ตลาดเนื้อหมูในจังหวัดถูกกดดันจนราคาเนื้อหมูทยอยปรับตัวขึ้นเป็นระยะดังกล่าว
ซึ่งผู้ค้าเนื้อหมูชำแหละรายนี้ยังระบุว่า
หากรัฐไม่เข้ามาแทรกแซงราคาจำหน่ายเนื้อหมูจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะคาดว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนในสัปดาห์หน้า ราคาเนื้อหมูชำแหละจะทะยานราคาขึ้นไปแตะที่ระดับกิโลกรัมละ 140-150 บาท เพราะคนไทยเชื้อสายจีนต้องใช้เนื้อหมูไปประกอบการไหว้เจ้าและบรรพบุรุษจำนวนมาก
ด้านนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยว่า
รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัดเรื่องราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะเป็นไปตามกลไกการตลาด แต่จังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบตามฟาร์มเลี้ยงหมูรายใหญ่ เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้เลี้ยงหมูกักตุนสินค้า จนกระทั่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค พร้อมให้ติดตามจับตากลไกการตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้แผงขายเนื้อหมูชำแหละถือโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอ้างภาวะราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นด้วย