โครงเหล็กหลังคาร.ร.คันนายาวพังถล่มทับคนงาน
เป็นหลังคาคลุมสนามสูง 15 เมตร ยาว 40 เมตร รับน้ำหนักไม่ไหวหลังผู้รับเหมาขนแผ่นหลังคาหนักกว่า 1 ตันขึ้นไปกองไว้จุดๆ เดียว รองผู้ว่าฯ-รองปลัดกทม.รุดตรวจที่เกิดเหตุ ยันโครงสร้างออกตามแบบ สั่งผู้รับเหมารีบเก็บซากให้แล้วเสร็จ พร้อมสั่งหยุดเรียนวันจันทร์เพื่อความปลอดภัยของน.ร.
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ม.ค. พ.ต.ท.วชิระชัย พันธ์ทอง พนักงานสอบสวน (สบ3) สน.บางชัน
รับแจ้งเหตุโครงหลังคาเหล็กขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15 เมตร ยาว 40 เมตร พังถล่มลงมาทับคนงานก่อสร้างบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดบริเวณสนามปูนของโรงเรียนคันนายาว ซ.เสรีไทย 50 ถ.เสรีไทย แขวงและเขตคันนายาว กทม. หลังรับแจ้งจึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วนำกำลังรุดตรวจสอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กทม. สำหรับผู้บาดเจ็บถูกนําส่งร.พ.นพรัตน์ราชธานีชื่อนายสมพร ใจจิตร อายุ 19 ปี บาดเจ็บแขนขวาหัก
จากการสอบสวนนายอุดม ระมนมอญ อายุ 36 ปี
หัวหน้าคุมงานของบริษัทบัญฑิต คอร์ปอเรชั่น จํากัด กล่าวว่า บริษัทรับว่าจ้างจากกทม.ให้เปลี่ยนหลังคาใหม่จากเดิมแบบตาข่ายสีเขียวเป็นแผ่นพลาสติก ก่อนเกิดเหตุคนงานขับรถเครนยกแผ่นพลาสติกหลังคาขึ้นไปวางบนหลังคา ช่วงแรกยกไปวางไว้ตามหัวเสาทั้งสิ้น 7 มัด นํ้าหนักมัดละ 200 ก.ก. ระหว่างนํามัดที่ 8 ขึ้นไปวางปรากฏว่าเสากลางของคานหลังคารับน้ำหนักไม่ไหวพังถล่มลงมา และดึงเสาใกล้เคียงอีก 12 ต้น ล้มตามไปด้วย ส่วนนายสมพร ผู้บาดเจ็บ ขณะนั้นรอรับแผ่นดังกล่าวอยู่บนคานจึงตกตามลงมาด้วย โดยก่อนหลังคาพังลงมาเพียงไม่กี่นาที มีคนงาน 2 คนยืนอยู่ใต้หลังคา โชคดีที่ไปเข้าห้องน้ำจึงรอดพ้นจากอันตรายมาได้
หลังคารร.กทม.ถล่มทับคนงาน-หนีตายวุ่น
ต่อมานายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯกทม.
พร้อมด้วยทีมวิศวกรโยธาของกทม.กว่า 10 คน เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ และเรียกผู้รับเหมามาสอบถามสาเหตุที่เกิดขึ้น นายวัลลภกล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าโครงสร้างดังกล่าวก่อสร้างมาประมาณ 3 ปี จากการตรวจสอบของทีมวิศวกรโยธาของกทม.พบว่า ก่อสร้างถูกต้องตามแบบแปลน ซึ่งแบบดังกล่าวออกแบบมาเพื่อรองรับหลังคาที่รับกับโครงหลังคาแบบแผ่นพลาสติกคาเมทาลิคอยู่แล้ว แต่การก่อสร้างเมื่อ 3 ปีก่อนยังไม่มีงบพอจึงนําตาข่ายสีเขียวมาขึงกันแดดแทนไว้ก่อน จึงไม่น่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการออกแบบ หรือก่อสร้างผิดแบบแต่อย่างใด
นายวัลลภกล่าวต่อว่า
ผู้รับเหมายอมรับว่านําแผ่นดังกล่าวขึ้นไปกองไว้ที่หัวเสา โดยไม่ได้นำขึ้นทีละแผ่น อาจเป็นไปได้ที่น้ำหนักไม่สมดุลและเกิดพังลงมา ทั้งนี้ สั่งการให้ปิดกั้นพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอันตราย และเร่งดําเนินการรื้อถอนโครงเหล็กดังกล่าวออกไป หากวันนี้ยังไม่แล้วเสร็จอาจต้องหยุดเรียนในวันจันทร์นี้เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ช่วงเกิดเหตุมีชาวบ้านจํานวนมากและผู้สื่อข่าวหลายสำนักเดินทางมายังจุดเกิดเหตุ แต่ทางโรงเรียนปิดประตูใหญ่ไม่อนุญาตบุคคลภายนอกเข้าไปในโรงเรียนเด็ดขาด จนกระทั่งรองผู้ว่าฯกทม.มายังที่เกิดเหตุทางโรงเรียนจึงยอมเปิดประตู จากการสังเกตตามจุดต่างๆ ของคานที่พังลงมาพบว่ามีสภาพไม่แข็งแรง หลังเกิดเหตุมีการถอดนอตตามรอยต่อต่างๆ ออก นอกจากนี้รอยเชื่อมต่างๆ บนคานและหัวเสามีสนิมเป็นจํานวนมาก บางจุดพุกร่อนเป็นรูอีกด้วย
ภายหลังสอบสวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตํารวจส่งกำลังออกติดตามคนขับรถเครนมาสอบปากคํา เนื่องจากอาศัยช่วงชุลมุนหลบหนีไป จากการตรวจสอบคานพบร่องรอยลักษณะถูกเฉี่ยวชน ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านนายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัดกทม. กล่าวว่า
จุดเกิดเหตุเป็นหลังคากันแดดสนามของโรงเรียน โดยหลังคาเก่าใช้งานมานาน 3 ปีแล้ว ทางเขตคันนายาวเห็นว่าหลังคาค่อนข้างเก่าจึงของบประมาณเปลี่ยนหลังคาพลาสติกแทน ซึ่งช่วงเกิดเหตุผู้รับเหมานำแผ่นหลังคาขึ้นไปเปลี่ยนโดยยกขึ้นไปเป็นมัดๆ ในปริมาณมาก แล้วนำไปวางไว้จุดใดจุดหนึ่งของโครงเหล็กด้านบนของหลังคา เป็นเหตุให้โครงเหล็กรับน้ำหนักไม่ไหวพังถล่มลงมา ทำให้คนงานบาดเจ็บแขนหัก 1 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาจะดำเนินการก่อสร้างใหม่ทั้งหมด โดยตนสั่งการผู้รับเหมาขนเหล็กที่ถล่มออกจากโรงเรียนทั้งหมดภายในวันนี้ หากทำไม่ทันจะให้โรงเรียนประกาศหยุดเรียนวันจันทร์ 1 วัน
นายอนันต์กล่าวต่อว่า
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สั่งการทุกสำนักงานเขตของกทม. ใช้กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะเมื่อต้องก่อสร้างและยกวัสดุจะต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ อย่ายกวัสดุขึ้นไปจำนวนมากๆ เหมือนเหตุการณ์ดังกล่าว ปกติแล้วหากมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงใดๆ ผู้รับเหมาจะดำเนินการหลังเวลาเลิกเรียนแล้ว โดยต้องติดป้ายบอกว่าเป็นเขตอันตรายอย่างชัดเจน มีผ้าคลุมเรียบร้อย ต้องไม่เป็นอันตรายและไม่ส่งเสียงดังกระทบต่อนักเรียน ตนกำชับผู้บริหารโรงเรียนให้ดูแลเข็มงวดเพื่อสร้างความมั่นใจกับนักเรียนและผู้ปกครอง
ต่อมานายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าฯกทม. ฝ่ายการศึกษา มีคำสั่งให้โรงเรียนคันนายาวหยุดการเรียนการสอนในวันจันทร์ที่ 28 ม.ค. 1 วัน จากเหตุโครงหลังคาถล่มดังกล่าว
ขณะที่คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยนักเรียนระหว่างที่โรงเรียนก่อสร้างอาคารว่า
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมาตรการดูแลป้องกันความปลอดภัยนักเรียนอยู่แล้ว หากโรงเรียนมีโครงการก่อสร้างอาคารภายในบริเวณสถานศึกษา จะต้องผ่านการรับรองจากสถาปนิกเสียก่อน และผู้ก่อสร้างต้องมีวิศวกรดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสร้างรั้วกั้นล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้างให้เป็นเขตอันตราย ป้องกันเศษปูนหรือวัสดุก่อสร้างตกหล่นเป็นอันตรายกับนักเรียน