หมอเตือน-ถึงตาย กินกุ้งเต้น เหมือนคาบปลาหมอ

หนุ่มคาบ"ปลาหมอ"ติดคอพูดได้แล้ว แต่ยังไม่ชัด"หมอ"สั่งรอดูอาการอีก 1-2 วัน สาธารณสุขปาก น้ำโพเตือนชาวบ้านชอบคาบปลาระวังอันตรายถึงตาย หากจำเป็นควรคาบทางหาง ระบุเด็กที่ชอบรับประทานน้อยหน่าหรือมะขามแล้วเม็ดน้อยหน่า -เม็ดมะขามหลุดเข้าไปในหลอดลมดับมาแล้วบ่อยๆ ย้ำนักเปิบ"กุ้งเต้น"ด้วยอาจถึงตาย เผยกุ้งเป็นๆ จะดิ้นเข้าไปในหลอดลมและเป็นอันตรายถึงชีวิต

จากกรณีที่นายชาญ อินทร์ชู อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 117/1 หมู่ 8 ต.คลองขลุง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร

ซึ่งออกหว่านแหหาปลาในคลองหลังบ้านแล้วจับปลาหมองับไว้ในปาก แต่ปลาหมอเกิดดิ้นหลุดเข้าไปในลำคอ ควักเท่าไรก็ไม่ออก ต้องวิ่งกลับบ้านให้ภรรยาช่วยล้วงคอออก แต่ไม่เห็นตัวปลา และมีอาการเจ็บปวดในลำคอมาก จึงส่งตัวไปหาหมอที่โรงพยาบาลคลองขลุง แพทย์ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลกำแพงเพชร ก่อนจะส่งมาที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นคร สวรรค์ เพราะมีเครื่องมือที่ดีกว่า และนายแพทย์นเรศ แตงใหญ่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก วางยาสลบและใช้เครื่องสุญญากาศดูดเอาปลาหมอที่ตายติดอยู่ในคอของนายชาญออกโดยใช้เวลานานประมาณ 1 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 27 ม.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงอาการของนายชาญ อินทร์ชู หลังจากที่ดูดเอาปลาหมอออกมาแล้ว ซึ่งแพทย์สั่งให้นายชาญนอนพักรักษาตัวดูอาการก่อน พร้อมสั่งงดอาหาร น้ำ โดยเด็ดขาด และให้ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ เพื่อรักษาแผลในคอ พร้อมทั้งสั่งตรวจสอบดูว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนเชื่อว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ใน 1-2 วัน โดยในวันเดียวกันนี้อาการของนายชาญดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายชาญสามารถพูดได้แล้ว

แต่ยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง โดยยังมีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย และยังพูดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะยังมีอาการปวดในลำคอ และยังต้องขากเสลดที่ติดอยู่ในลำคอออกอยู่เป็นพักๆ โดยเสลดจะมีเลือดปนหนองออกมาด้วย ซึ่งในวันนี้แพทย์สั่งให้อาหารอ่อนแล้ว แต่ยังให้น้ำเกลืออยู่ สำหรับการ เตรียมความพร้อมแพทย์ได้เตรียมเครื่องช่วยหายใจ และเครื่องให้ออกซิเจนเพื่อกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน โดยแพทย์มาทำการตรวจไปแล้วในวันนี้ 2 ครั้งและมีเจ้าหน้าที่พยาบาลตรวจติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด ดูอาการโดยรวมแล้วอาการไม่น่าเป็นห่วง คาดว่าจะปลอดภัยดีไม่มีอาการแทรกซ้อน

ด้านนายแพทย์บัวเรศ ศรีประทักษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ให้สัมภาษณ์ถึงพฤติกรรมแบบนี้ว่า

เท่าที่ทราบชาวประมงจะมีพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก สำหรับคนที่ชอบหว่านแหหาปลา ลงข่ายดักปลาและพวกชอบตกปลา ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้จะเกิดขึ้นจนเป็นปกติ ในกรณีที่จับปลาได้หลายตัว ตัวที่จับได้ก่อนจะคาบไว้ในปาก แล้วจะจับปลาตัวอื่นต่ออีก ซึ่งลักษณะพฤติกรรมแบบนี้จะพบในกรณีที่ผู้หาปลา ซึ่งนำไม้มาทำสามขาหว่านแหอยู่กลางน้ำ โดยไม่มีตะข้องใส่ปลาไปด้วย เมื่อได้ปลาหลายตัวก็จะคาบบ้างจับบ้าง แล้วเอามาใส่ตะข้องริมฝั่งทีเดียว ส่วนผู้ที่อยู่ริมฝั่งก็จะมีตะข้องอยู่ข้างตัว จะไม่มีพฤติกรรมแบบนี้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เท่าที่ทราบเคยมีเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง บางครั้งก็โชคดีคายออกได้ทัน หรือปลาหลุดเข้าไปในทางเดินอาหารโดยไม่ติดค้างอยู่ในลำคอ บางครั้งก็มีปลาเข้าไปอุดหลอดลมจนถึงกับเสียชีวิต

นายแพทย์บัวเรศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า

อยากจะฝากเตือนไปยังนักหาปลาทั้งหลายว่าไม่ควรคาบปลา เพราะเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างมาก หากจำเป็นต้องคาบปลา ขอเสนอแนะว่าควรคาบทางหางจะปลอดภัยกว่า เพราะโดยธรรมชาติของปลาเมื่อดิ้นก็จะแถกตัวไปข้างหน้า หากเราคาบปลาทางหัว ปลาก็จะแถกเข้าไปในปากและอาจเข้าไปในลำคอได้ หากเราคาบทางหางปลา และปลาดิ้นก็จะหลุดออกจากปากตกน้ำไป ที่ควรระวังเป็นพิเศษเรื่องการคาบหัวปลานั้นเพราะในลำคอจะมีหลอดลมกับหลอดอาหาร ปลาจะดิ้นแถกไปเองโดยควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาหารที่เรารับประทานหรือน้ำที่ดื่มเข้าไปร่างกายจะแยกเองโดยอัตโนมัติ จะมีบ้างในบางครั้งที่มีการสำลักอาหารหรือเครื่องดื่ม เพราะหากมีการคุยไปด้วยขณะดื่มหรือรับประทานอาหาร ถ้าเป็นน้ำก็จะมีอาการแสบในลำคอ หรือปอดบวมหากสำลักเข้าไปมาก แต่หากเป็นของ แข็งและไปอุดหลอดลมก็จะทำให้เสียชีวิตได้ "เคยมีเหตุเกิดมาแล้วหลายครั้งในเด็กที่ชอบรับประทานน้อยหน่าหรือมะขามแล้วเม็ดน้อยหน่า เม็ดมะขามหลุดเข้าไปในหลอดลมจนเสียชีวิต นอกจากการคาบปลาแล้วขอแนะนำว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นก็ไม่ควรให้เข้าไปในปากโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น พวกที่ชอบรับประทานกุ้งเต้น มีบางครั้งที่กุ้งยังไม่ตาย อาจจะดิ้นเข้าไปในหลอดลมและเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้" สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์