โฉมใหม่สยามสแควร์ จากสวนผัก 50 ปีก่อน สู่ดิจิตอลเกตเวย์

ศูนย์รวมวัยรุ่นชื่อดังของ เมืองไทย นาม “สยามสแควร์” กำลังเริ่มต้นเปลี่ยนโฉมบางส่วนในพ.ศ. 2551

เพราะปีนี้ร้านค้าหลาย ๆ จุดจะหมดสัญญาลงโดยเฉพาะพื้นที่ 1 ไร่เศษของลานเซ็นเตอร์พ้อยท์ระหว่างซอย 3 และซอย 4 ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดำเนินตามแผน “โครงการศึกษาผังแม่บทสยามสแควร์” ของคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนา โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเขียนแผนมาตั้งแต่ ปี 2547
 
ในแผนดังกล่าว กำหนดให้สยามสแควร์เป็นวอล์กกิ้ง สตรีท มอลล์ แห่งแรก

สำนักงานจัดการ ทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาประกาศว่าจะพลิกโฉมสยามสแควร์ ไปสู่รูปแบบการพัฒนาครั้งใหม่ โดยเริ่มจากพื้นที่ 1 ไร่ดังกล่าว สยามสแควร์มีพื้นที่ทั้งหมด  63 ไร่ เป็นศูนย์การค้าแบบแนวราบ ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างสำคัญได้แก่ อาคารพาณิชย์จำนวน 3 ชั้น มี 610 คูหา มีโรงภาพยนตร์ 3 แห่ง และเป็นที่ตั้งของโรงแรมโนโวเทล และที่วัยรุ่นรู้จักดี คือ “ลานเซ็นเตอร์พ้อยท์”
 
ย้อนไปเมื่ออดีตจากข้อมูลในเว็บไซต์ วิกิพีเดีย เล่าเรื่องของสยามสแควร์ไว้ว่า

ในช่วงปีพ.ศ. 2505 ที่ดินย่านนี้เคยเป็นสวนผัก เป็นชุมชนแออัด มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของพื้นที่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ชาวบ้านอพยพโยกย้ายจากพื้นที่ไป ครั้งนั้น พลเอกประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระ ทรวงมหาดไทย และยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยนั้น มีแผนในการพัฒนาที่ดินบริเวณสยามสแควร์ ให้เป็นแหล่งค้าขาย เพื่อป้องกันการบุกรุกที่ดินของชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่เดิมกลับมา 
 


ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้บริษัท เซาท์อีสเอเชียก่อสร้าง เข้ามาพัฒนาที่ดิน 63 ไร่ ให้เป็นศูนย์การค้าเชิงราบ

พื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ตอนนั้นมีศูนย์การค้าย่านราชประสงค์ ย่านวังบูรพา เกิดขึ้นมาแล้ว ผู้คนมักไปรวมตัวกันที่นั่น เมื่อสยามสแควร์เปิดตัวบรรดาร้านรวงเริ่มขยับขยายย้ายมาที่สยามสแควร์ กลายเป็นย่านทันสมัยในสมัยนั้น เดิมทีเมื่อเปิดศูนย์การค้าเชิงราบตอนแรกมีชื่อโครงการว่า “ปทุมวันสแควร์” เพราะอยู่ในอำเภอปทุมวัน ยังไม่ได้ใช้ชื่อสยามสแควร์เหมือนปัจจุบัน กอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของโครงการขณะนั้น มองว่าชื่อ    “ปทุมวันสแควร์” เล็กไปเพราะเป็นแค่ชื่ออำเภอ จึงเปลี่ยนมาเป็นชื่อของประเทศดีกว่า จึงใช้ชื่อว่า  “สยามสแควร์” เป็นต้นมา
 
นับจากเปิดสยามสแควร์มาตั้งแต่ปี 2508 ศูนย์การค้าเชิงราบพัฒนาขึ้นตามลำดับ ในปีพ.ศ. 2509 มีโรงแรม 5 ดาว โรงแรมสยามอินเตอร์ คอนติเนนตัล (ปัจจุบันที่ตั้งเปลี่ยนเป็นสยามพารากอน) เกิดขึ้นเป็นโรงแรมแรก

จนมาปี 2510 โรงหนังสยามบุกพื้นที่สยามสแควร์ ปี 2511 เกิดโรงหนังลิโด และปี 2512 โรงหนังสกาล่าก็เข้ามา จากนั้นย่านสยามสแควร์เริ่มพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ มีร้านค้า ร้านอาหารขึ้นตามลำดับ จัดว่าเป็นแหล่ง รวมโลกแฟชั่นเบ็ดเสร็จครบวงจร  เป็นสถานที่มีการทดลองสินค้า และกิจกรรมการตลาดแบบแปลกใหม่และเข้มข้นสุดแห่งหนึ่ง มีการประมาณการกันว่า มีจำนวนคนเดินในสยามสแควร์ในวันธรรมดาเฉลี่ยวันละ 20,000 คน วันหยุดไม่ต่ำกว่า 50,000 คน และแต่ ละคนมีกำลังซื้อไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ต่อครั้งต่อคน  
  
สยามสแควร์เป็นศูนย์รวมของวัยรุ่นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


มีหนังเรื่อง “สยามสแควร์” เกิดขึ้นในปี 2527 โดยใช้ฉากและเนื้อหาของสยามสแควร์เป็นตัวดำเนินเรื่อง นำแสดงโดย อนุสรา จันทรังษี ภาพยนตร์ที่ฉายภาพของวัยรุ่นสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และล่าสุด ภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” ภาพยนตร์บอกเล่ารักในแบบต่าง ๆ ก็มาถ่ายทำที่นี่ ชื่อเสียงของสยามสแควร์ยังมีชื่อในเรื่อง ของแฟชั่น ที่นี่มีร้านค้าเสื้อผ้ามากถึงกว่า 150 ร้าน มีทั้งเสื้อผ้าราคาถูกและแบรนด์เนมจากต่างประเทศ และยังมีร้านตัดชุดวิวาห์กว่า 20-30 ร้าน 
 

แหล่งรวมวัยรุ่นที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมของแมวมอง โมเดลลิ่ง บรรดาวัยรุ่นที่มีฝันอยากเป็นดารา นักร้อง ก็มักมาเดินเล่นที่นี่เผื่อว่าจะมีแมวมองชักชวนเข้าสู่วงการ
 
ไม่ว่าดาราวัยรุ่นยอดนิยม อาทิ  “มอส” ปฏิภาณ ปฐวีกานต์, “เต๋า” สมชาย เข็มกลัด, “โบ-จอยซ์” แห่ง วงไทรอัมพ์ส คิงดอม ต่างแจ้งเกิดมา  จากสถานที่แห่งนี้สิ่งที่ฮอตฮิตของสถานที่แห่งนี้ คือ “โรงเรียนสอนพิเศษ” นับเป็นย่านโรงเรียนสอนพิเศษมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รวมกันประมาณ  30 แห่ง ในวันธรรมดาจะเปิดสอนวันละ รอบ มีนักเรียนมาติวครั้งละประมาณ 10,000-20,000 คน หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดสอนวันละ 4 รอบ ทั้งสัปดาห์จะมีนักเรียนนับแสนคนหมุนเวียนเข้ามากวดวิชา
 
สยามสแควร์ยังเป็นแหล่งรวมร้านตัดผมมากที่สุด มีทั้งร้านตัดผมชายแบบบาร์เบอร์ ร้านสกาลาบาร์เบอร์เป็นร้านแรกที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2515

มีกลุ่มลูกค้าเป็นนายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีซาลอน หรือร้านทำผมสมัยใหม่อยู่เป็นจำนวนมาก ล่าสุดร้านทำผมสไตล์เกาหลี ญี่ปุ่น ก็มีศูนย์รวมอยู่ที่นี่ ในปี 2540 สยามสแควร์เคย ตกต่ำอย่างหนัก เกิดจากปัจจัยหลายตัวไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ปรับค่าเช่า สูงถึง 1,200 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม  ค่าเซ้ง 10 ปี ราคา 500,000 บาท ปรับขึ้นเป็น 6-7 ล้านบาท
 
ขณะเดียวกันบางช่วงมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งต่อมาทางจุฬาฯ  ได้ปรับค่าเช่าลง 600 เปอร์เซ็นต์ เพราะก่อนหน้านั้นมีการประท้วงครั้งใหญ่ของบรรดาผู้ค้า
 
จากจุดผกผันดังกล่าวมีร้านรวงปิดตัวลงไปจำนวนมาก มีโรงเรียนกวดวิชาเข้ามา โดยเฉพาะซอย 5-7 มีไม่กี่โรงเรียนเพิ่มเป็น 50 โรงเรียน ปี 2551 สยามสแควร์ จะเริ่มต้น โครงการดิจิตอล เกตเวย์ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต บริษัทในกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ชนะการประมูลด้วยการเสนอรูปแบบ ดิจิตอลซิตี้ คือการสร้างทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า โดยออกแบบให้มีอาคาร 4 ชั้น ใช้วัสดุก่อสร้างทันสมัยคือ  กระจกอะลูมิเนียม และหลังคาผ้าใบ ภายในอาคารมีร้านค้าปลีก ชั้น 2 และชั้น 3 ขายเสื้อผ้า อาหาร มีสินค้าไอที และชั้นบนสุดเป็นลานกว้าง   มีสวนและต้นไม้ ที่เรียกว่า “Roof Garden” โดยชั้น 3 ต่อเชื่อมกับทางเข้าสถานีรถไฟฟ้า
 
ส่วนชั้นล่างสุดคือลานแสดงเทคโนโลยี ที่เรียกว่า “ดิจิตอล คอนเวนชั่น”

เป็นพื้นที่จัดงานอีเวนต์ งานนิทรรศการ นอกจากนี้ยังมีทาง เดินเชื่อมที่เรียกว่า “สกายวอล์ก” เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับพื้นที่ย่านราชประสงค์และฝั่งมาบุญครอง ระหว่างทางเดินยกระดับนี้จะ  ทำให้บริเวณชั้น 2 ชั้น 3 มีพื้นที่การค้าขายเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีคนจับจ่ายสินค้าและร่วมกิจกรรมปีละไม่ต่ำกว่า 7.5 ล้านคน แม้จะมีรถไฟฟ้าที่สะดวก     ต่อการเดินทาง แต่พื้นที่นี้ยังได้สร้างอาคารจอดรถ 10 ชั้น สามารถจอดได้ 800 คัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ลงทุนเอง 1,000 ล้านบาท ขณะที่ โรงหนังย่านสยามสแควร์ทางเจ้าของพื้นที่ยืนยันคงให้เป็นแบบคลาสสิก
 
โลกหมุนไปรอบตัวเองอย่างไม่เคยเปลี่ยน แต่สิ่งที่อยู่บนโลกนี้เปลี่ยนอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าจะตามทันหรือรับกับการเปลี่ยนแปลงได้สักเท่าไร.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์