เจอ ข้อมูลใหม่ รับหมดทีไอทีวี

ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

เพื่อเตรียมการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในวันที่ 1 ก.พ. ที่อาคารชินวัตร 3 เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานบอร์ด ส.ส.ท. นายเทพชัย หย่อง รักษาการผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายณรงค์ ใจหาญ กรรมการส.ส.ท. และนายอภิชาติ ทองอยู่ โฆษกคณะกรรมการได้ ประชุมร่วมกับนายอัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีต ผอ.ฝ่ายข่าวทีไอทีวี นานกว่า 4 ชม. โดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เข้ายื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการรับพนักงานทีไอทีวี เข้าทำงานด้วยความเป็นธรรม พร้อมทั้งขอให้พิจารณาพื้นที่ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานด้วย


ต่อมานายอภิชาติเปิดเผยผลการประชุมว่า คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 10 คน ประกอบด้วย

นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ น.ส.นวพร เรืองสกุล รศ.ดร.นภาพร หะวานนท์ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศ.ดร.นันทวัฒน์ ปรมานันท์ นายพนัส ทัศนียานนท์ นายมานิจ สุขสมจิตร นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน และนายอนุสรณ์ ศรีแก้ว เพื่อช่วยเหลือสนับ สนุนและให้คำปรึกษาในช่วงดำเนินการก่อตั้งองค์การกระจายเสียงฯ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พบข้อมูลใหม่ บางส่วนเกี่ยวกับกฎหมายที่คลาดเคลื่อน คิดว่าน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับพนักงานทีไอทีวี ได้มีการขอดูหลักฐานในรายละเอียดทั้งหมดแล้ว และทางฝ่ายกฎหมายจะแถลงข่าวในเวลา 14.00 น. วันที่ 23 ม.ค. ส่วนการออก อากาศวันที่ 1 ก.พ. ยังยืนยันเป็นไปตามปกติ แต่ด้วยข้อจำกัดของกระบวนการทำงาน ช่วงเวลา และการต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นทีวีสาธารณะยังใช้เวลา 18.00-24.00 น. ทดลองไปก่อน
 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พบข้อมูลอะไรที่เป็นข่าวดีกับพนักงานทีไอทีวี นายอภิชาติตอบว่า

มีหลายจุด ในส่วนที่เป็นภาระผูกพันจะต้องไปทบทวนใหม่ว่าเป็นภาระผูกพันหรือเปล่า เพราะข้อมูลที่ได้จากกรมประชาสัมพันธ์ กับข้อมูลที่ได้จากทีไอทีวี ไม่ตรงกันในข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีจะเป็นผลดีกับพนักงานทีไอทีวีเอง ถ้าเป็นภาระผูกพันก็ต้องดูแลให้ดีที่สุด ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามข้อมูลที่ได้จะส่งผลให้พนักงานทีไอทีวีเข้าทำงานที่ไทยพีบีเอสได้เลยหรือไม่ นายอภิชาติตอบว่า เดาเอาว่าน่าจะได้ บนเงื่อนไขของดุลพินิจของกรรมการนโยบายชั่วคราวฯ เรื่องข้อมูลที่พบใหม่ยังไม่ได้ถามไปยังกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกฎหมายจะมีการทบทวนอีกครั้ง มันอาจจะพลิกกลับไปแบบเก่าก็ได้ กำลังดูข้อเท็จจริงกันอยู่ เราจะเป็นฝ่ายชี้ขาด เพราะศาลสั่งให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ 5 คน หากดูตามข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ ก็น่าจะเป็นข่าวดี 


ผู้สื่อข่าวถามว่า พนักงานทีไอทีวีเคยเรียกร้อง ในประเด็นภาระผูกพันให้คณะกรรมการพิจารณา ทำไมถึงเพิ่งจะบอกว่าเจอข้อมูลใหม่ นายอภิชาติกล่าวว่า

ที่รับทราบเพียงแต่เป็นข้อมูล แต่หลักฐานข้อเท็จจริงยังไม่เคยเห็นจากกรมประชาสัมพันธ์ เพิ่งมาเห็นวันนี้ที่เข้ามาที่ทีไอทีวี และเป็นหลักฐานที่ชัดกว่า
ต่อข้อถามว่า จะถือว่าเป็นความผิดของกรมประชาสัมพันธ์หรือไม่ ที่ให้ข้อมูลผิดพลาดกับคณะกรรมการ ทำให้มีส่วนในการตัดสินใจในการรับสมัครพนักงาน นายอภิชาติตอบว่า ในวันที่ 23 ม.ค. ฝ่ายกฎหมายจะแถลง เป็นเรื่องสำคัญ และไม่ได้หนักใจ ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ต่อข้อถามว่า ถ้าต้องรับพนักงานทีไอทีวีทั้งหมด จะกระทบกับผังรายการเดิมที่วางไว้ นายอภิชาติตอบว่า ไม่กระทบ เพราะจะรับบนข้อเท็จจริง
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัฌชา สุวรรณปากแพรก อดีต ผอ.ฝ่ายข่าวทีไอทีวี ได้นำสัญญาการจ้างงาน ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับทีไอทีวี เสนอให้คณะกรรมการชั่วคราวฯ พิจารณาในการประชุม

โดยเฉพาะในเงื่อนไขของสัญญาข้อ 12 ที่กรมประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมขึ้นมาจากข้อสัญญาเดิม 11 ข้อ โดยแจ้งเพิ่มเติมสัญญาข้อ 12 มายังพนักงานทีไอทีวี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ก่อนที่จะมีการยุติการออกอากาศ 4 วันเท่านั้น สำหรับสัญญาในข้อ 12 ระบุว่า “การสั่งจ้าง ตามหนังสือนี้มีระยะเวลา 3 เดือน หรือสิ้นสุดลงหากสถานี เปลี่ยนสภาพ เป็นองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะ เมื่อพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้” ซึ่ง พนักงานทีไอทีวีกว่า 800 คน ยอมเซ็นเพียง 29 คนเท่านั้น จึงอาจจะเป็นภาระผูกพันอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวเพิ่งจะทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ไม่เคยแจ้งให้ทราบมาก่อน
 

วันเดียวกัน นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า
 
ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติตามข้อเสนอของสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีการจัดสรร ทุนประเดิมให้แก่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์ไทยบีพีเอส (TBPS) ให้มีการจัดสรรทุนประเดิมในการทำงาน โดยนำรายได้ ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากภาษีเหล้าและบุหรี่ จำนวน 340 ล้านบาท เพื่อให้คณะกรรมการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มีงบประมาณใน การดำเนินการต่อไป


นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นของประธานบอร์ดไทยพีบีเอส กรรมการและกรรมการบริหารอื่นๆ

โดยตำแหน่งประธานบอร์ดไทยพีบีเอส ได้เงินเดือนเดือนละ 60,000 บาท ส่วนกรรมการ เงินเดือน 50,000 บาท และกรรมการบริหารอื่นๆ 40,000 บาท และยังกำหนดอัตราเบี้ยประชุมของกรรมการไทยพีบีเอส เดือนละ 30,000 บาท ขณะที่ประธานกรรมการได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ใน 4 ของกรรมการ ส่วนกรรมการบริหารอื่นๆ ได้รับเบี้ยประชุม 20,000 บาทต่อเดือน ค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิหรือมีการเบิกจ่ายจริงในอัตรา 30,000 บาทต่อปี


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์