รายงานข่าวจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เปิดเผยว่า
เป็นห่วงพฤติกรรมการซื้อหวยของคนไทยอย่างมาก เพราะประชากรไทยหลายรายมีความเชื่อว่า หวยเป็นทางเลือกในการลงทุนทางการเงินประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจพบว่าบางหมู่บ้านมีปริมาณเงินที่สูญหายกับการซื้อหวยไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี ดังนั้นจึงเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินนโยบายจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนเงินซื้อหวยเป็นเงินออมเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยสรรหาตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงน้อยเป็นทางเลือกการลงทุนแต่ต้อง ออกรางวัลเหมือนกับหวยประจำทุกเดือน เช่น สลากออมสิน และสลากทวีสิน เพื่อให้สอดคล้องกับนิสัยคนไทย
ทั้งนี้ผลการวิจัยของภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินภาพรวมของการซื้อหวยและผลตอบแทน พบว่า
ซื้อลอตเตอรี่ทุก 1 บาท ทำให้ผู้ซื้อสูญเสียเงินเฉลี่ย 40 สต.หรือขาดทุน 40 สต. และซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัว 1 บาท ขาดทุน 35-70 สต. ส่วนความเสี่ยงในการลงทุนทางการเงินที่เสี่ยงมากสุดคือ หวย รองลงมา ตราสารอนุพันธ์ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้มีหลักประกัน ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลมีความเสี่ยงต่ำสุด
นางพรเพ็ญ วรสิทธา อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจฐานรากวันนี้ เงินหายไป ว่า รัฐบาลควรออก นโยบายส่งเสริมการออมที่ตรงกับพฤติกรรมคนไทยเพื่อจูงใจให้ออมมากขึ้น เช่น คนจำนวนมากชอบซื้อหวย ดังนั้นการออกตราสารต้องเหมือนกับเล่นหวย เพราะผลสำรวจคนส่วนใหญ่ต้องการเงิน รางวัล และหากมีการออกรางวัลบ่อยครั้งแม้จะเป็นเงินไม่มาก ก็จะช่วยเป็นแรงจูงใจให้คนไทยมีนิสัยออมมากขึ้น ที่สำคัญจะได้เงินต้นและผลตอบแทนกลับคืนมา ไม่เหมือนกับเล่นหวยที่พบว่ามีผู้ซื้อมากถึง 60% ไม่เคยถูกรางวัลเลยจนทำให้เงินต้นสูญหายหมด
“การซื้อสลากเป็นการลงทุนที่มีลักษณะคล้ายกับการเล่นหวยมากสุด
เพราะมีรางวัลให้ลุ้นทุกเดือน แถมยังได้เงินต้นและดอก เบี้ย แต่สาเหตุที่คนไม่ให้ความสนใจมากนัก เพราะรางวัลไม่น่าสนใจ, มีกำหนดราคาซื้อขาย ขั้นต่ำ, ต้องไปซื้อในธนาคารซึ่งไม่เหมือนกับหวยที่มีคนเดินโพยมาจำหน่ายถึงที่, รางวัลแจ๊กพอตไม่น่าสนใจ, หาซื้อยาก, มีเงื่อนไขที่ยุ่งยาก และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนพฤติกรรมการซื้อหวยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 72% เป็นการลงทุน และ 83% ซื้อเพราะหวังเงินรางวัล”
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจมหาภาค การเงิน การคลัง สป. กล่าวว่า ปัจจุบันรายจ่ายครัวเรือนประชาชนมีมากขึ้น ทั้งรายจ่ายด้านรักษาโรค, สินค้าประเภทฟุ่ม เฟือยและจำเป็น แต่มูลค่าของเงินกลับซื้อสินค้าได้น้อยลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงอยากเสนอแนวทางให้รัฐบาล ส่งเสริมการออมในระดับชุมชนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันพัฒนาให้ประชากรสามารถพึ่งพาตนเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่สนับสนุนให้พึ่งภาค รัฐตลอด
“ส่วนผลการศึกษาที่ระบุว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ยกเลิกโครงการประชานิยมต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดก่อนเป็นเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท
ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า และผู้มีรายได้น้อยเข้าที่ลง เนื่องจากเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากกว่าเดิมจึงส่งผลกระทบต่อการลงทุนของคนระดับฐานรากนั้น ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าคงนำเรื่องนี้มามองในภาครวมไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนให้พึ่งพาตัวเองได้จะเป็นทิศทางที่ดีกว่า”