นายมนูญ ปุญญกริยากร อธิบดีกรมการจัดหางาน แถลงข่าวการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2551 ว่า
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในการจัดระเบียบแรงงานต่างที่อยู่ในประเทศ โดยนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าว ที่มีใบอนุญาต ท.ร.38/1 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป ให้นำมาจดทะเบียนและขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวในปี 2551 ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม-27 เมษายน ทั้งนี้ จะต้องนำตัวแรงงานต่างด้าวไปทำการตรวจสุขภาพในระหว่างวันที่ 21 มกราคม-5 มีนาคม 2551
นายมนูญกล่าวว่า ในการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่หมดอายุในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จำนวน 141,289 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ กลุ่มที่ 2 ผู้ที่หมดอายุในวันที่ 14 มีนาคมจำนวน 10,540 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์-14 มีนาคม และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่หมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน จำนวน 394,443 คน สามารถมาต่ออายุได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่เคยมารายตัวและจดทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง เฉพาะผู้ที่เคยมี ท.ร.38/1 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เท่ากันทุกกลุ่ม ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวนั้น จะต้องมาขอใบอนุญาตทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
นายมนูญกล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.... โดยมีเนื้อหาสาระเปลี่ยนวิธีการกำหนดโควต้าแรงงานต่างด้าวให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากในอดีตเคยใช้วิธีการกำหนดโควต้าให้แต่ละจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการขอโควต้าแรงงานต่างด้าวเกินความต้องการที่แท้จริง ส่งผลให้เกิดปัญหาไม่ทราบความต้องการแรงงานอย่างแท้จริงและปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยเปลี่ยนให้นายจ้างเสียค่าธรรมเนียมในการจ้างแรงงานรายหัว เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างแจ้งความต้องการจ้างเกินจำนวน ขณะนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กำลังศึกษาความเหมาะสม พ.ร.บ.ดังกล่าวอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกเนรเทศ หนีเข้าเมือง และถูกเพิกถอนสัญชาติ และอยู่ในระหว่างรอส่งกลับประเทศ มีสิทธิในการขอใบอนุญาตทำงานได้ชั่วคราวและจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับประเทศโดยให้นายจ้างหักเงินเดือนของลูกจ้างในแต่ละเดือนมาเข้ากองทุน