นักศึกษาแห่ผ่าแปลงเพศยอมจ่ายนับแสนครูชี้สิทธิส่วนตัว

นักศึกษาปี 1-2 ฮิตเร่งแปลงเพศเชื่อผ่าตัดอายุน้อยทำให้สวยเหมือนหญิงแท้ เผยลงทุนนับแสนทั้งเงินพ่อแม่และเก็บส่วนตัว อาจารย์มหาวิทยาลัยรับได้ถือเป็นสิทธิส่วนตัว ขณะที่แพทย์ยันชายกินฮอร์โมนเพศหญิงตั้งแต่วัยรุ่นทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
 

ปัจจุบันจำนวนชายรักชายที่แปลงเพศเป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่มีค่านิยมแปลงเพศตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากเกรงว่าหากอายุมากขึ้นจะทำให้ฮอร์โมนเพศชายสูงเกินกว่าจะแปลงให้ร่างกายสมส่วนเหมือนผู้หญิงทั่วไป

การ์ตูน หนึ่งในนักศึกษาแปลงเพศกล่าวถึงสูตรสำเร็จในการผ่าตัดเป็นสาวสมบูรณ์แบบว่า

ตุ๊ด กะเทย หรือสาวประเภทสอง ส่วนใหญ่ที่มีความมุ่งมั่นจะผ่าตัดแปลงเพศ จะมีความรู้สึกตั้งแต่วัยเด็กเลยว่า ร่างกายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง คนกลุ่มนี้พอเริ่มเรียนระดับมัธยมต้นก็จะกินฮอร์โมนปรับร่างกายเตรียมความพร้อม เริ่มจากการกินยาคุมกำเนิดและฉีดฮอร์โมนเพศหญิงให้ร่างกายมีหน้าอกและผิวพรรณเปล่งปลั่ง เมื่อจบมัธยมต้นแล้วออกจากระบบการศึกษาหรือเข้าเรียนต่อสายวิชาชีพก็จะผ่าตัดทำหน้าอก ยกเว้นกลุ่มที่เรียนต่อมัธยมปลายก็ต้องรอให้จบเข้ามหาวิทยาลัยปี 1-2 ก็จะผ่าตัดทำหน้าอก เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มจะบังคับน้อยลง

การ์ตูน อธิบายต่อว่า

นักศึกษาที่ผ่าตัดทำหน้าอกแล้วจะเก็บเงินให้ได้หลักแสนภายใน 2-5 ปี เพื่อจะได้รีบผ่าตัดแปลงเพศให้เป็นสาวประเภทสองเต็มตัว สาเหตุที่ต้องรีบผ่าตัดทั้งที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็เพราะเชื่อกันว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศที่ดีที่สุดต้องทำก่อนอายุ 20 ปี โดยเชื่อกันว่าฮอร์โมนเพศชายยังทำงานไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อแขนขายังไม่ดูเป็นชายมากนัก  "สาวประเภทสองที่เดินไปมาตามท้องถนนจะเห็นชัดเจนเลยว่ามีอยู่ 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ดูหุ่นสวย แขนขา ผิวพรรณหน้าตาเหมือนผู้หญิงมากจนแยกแทบไม่ออก กลุ่มนี้เชื่อกันว่าเป็นเพราะผ่าตัดแปลงเพศตั้งแต่อายุ 20 ปี ไม่เกิน 25 ปี กับอีกประเภทที่เป็นสาวประเภทสองร่างใหญ่ยักษ์ ท่าทางน่ากลัว เหมือนผู้ชายใส่กระโปรง ก็เพราะผ่าตัดหลังจากฮอร์โมนเพศชายขยายตัวเต็มที่แล้ว การ์ตูนเองก็ผ่าตัดทำนมตั้งแต่อายุ 19 ปี และผ่าตัดแปลงเพศเมื่อปีที่แล้วตอนอายุได้ 21 ปี" การ์ตูน สาธยาย
 

 ด้าน เจน นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ปี 4 วัย 23 ปี ซึ่งผ่าตัดแปลงเพศแล้วเช่นเดียวกัน ขยายความเพิ่มว่า

การผ่าตัดแปลงเพศมีค่าใช้จ่ายหลักแสนบาทขึ้นไป เริ่มจากกินยาคุมกำเนิดและฉีดฮอร์โมนตั้งแต่วัยรุ่น เสียค่าใช้จ่ายตกเดือนละ 2,000 บาท บวกกับการผ่าตัดทำหน้าอกอีก 4-6 หมื่นบาท ไม่รวมผ่าตัดแปลงเพศอีกประมาณ 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับความมีชื่อเสียงของแพทย์ผู้ทำศัลยกรรม
 

 เจน บอกว่า

 ขั้นตอนก่อนการผ่าตัดแปลงเพศเริ่มจากไปพบจิตแพทย์ 2-4 ครั้ง เพื่อทดสอบสภาพจิตใจว่าไม่ได้ผิดปกติอะไร และมีความตั้งใจจริงที่จะใช้ชีวิตและร่างกายแบบผู้หญิง จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการเลือกว่าจะผ่าตัดแบบใด โดยมี 3 รูปแบบ คือ แบบธรรมดา แบบต่อกราฟ และแบบต่อลำไส้ ซึ่งแบบธรรมดาจะมีความยาวของช่องคลอดสั้น ส่วนการผ่าแบบต่อสำไส้ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น การผ่าตัดแบบต่อกราฟจึงเป็นที่นิยมมากที่สุด ราคาตกอยู่ที่ 1-1.5 แสนบาท  "พวกเราผ่าตัดแล้วจำเป็นต้องใส่เสื้อนักศึกษาหญิง สวมกระโปรง บางครั้งเวลาอยู่ข้างนอกก็อาจจะเปิดกระดุมเสื้อบ้าง แต่เวลาเข้าชั้นเรียนก็จะติดกระดุมมิดชิด เอาเสื้อใส่ในกระโปรง เรารู้ว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ยอมรับ แต่ก็มีอาจารย์บางคนที่รับไม่ได้ เราก็อธิบายว่าพวกเราผ่าตัดแล้ว เป็นผู้หญิงเต็มตัว ถ้าแต่งตัวแบบผู้ชายมันจะขัดกันมากเลย บางคนก็โดนแกล้ง เช่น อาจารย์คุมสอบไล่ให้ไปเปลี่ยนกางเกง ไม่งั้นจะไม่ให้เข้าสอบ น่าเห็นใจนะ เพราะผมยาว แต่งหน้า แต่ต้องไปยืมกางเกงเพื่อนผู้ชายมาใส่เข้าสอบ พวกเราส่วนใหญ่เรียนดีนะ เกรดเฉลี่ยประมาณ 3.0 ขึ้นไป เพราะไม่อยากโดนดูถูกว่าเป็นกะเทยแล้วยังโง่อีก" เจน กล่าว
 

 ขณะที่ บี นักศึกษาปี 2 ก็เป็นอีกคนที่ผ่าตัดแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว

 แม้ว่าจะมีอายุเพียง 20 ปีก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทำศัลยกรรม 2 แสนบาทนั้น ก็มาจากพ่อและแม่ของเธอเอง
 

 ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแต่งกายของนักศึกษาสาวประเภทสองว่า

 เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและกาลเทศะ ที่สำคัญต้องไม่ไปกระทบสิทธิของคนอื่น สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีนโยบายผ่อนปรนเรื่องการแต่งกายของนักศึกษา เน้นให้สาระสำคัญทางด้านสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์มากกว่า เพียงแต่ตอนรับปริญญาบัตรต้องแต่งชุดเป็นผู้ชายเท่านั้น  "นักศึกษาเพศที่สามมีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และทำอะไรดีๆ ให้แก่สังคมอย่างมากมาย แต่การแปลงเพศตั้งแต่อายุยังน้อยหรือขณะเรียนมหาวิทยาลัยนั้น อยากให้แพทย์มีมาตรฐานการตรวจสภาพจิตใจก่อนอนุญาตให้ผ่าตัด เพราะที่รู้มายังไม่มีกฎหรือข้อบังคับชัดเจน ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลหรือคลินิกก็มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการศัลยกรรมแปลงเพศ ผมอยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยให้มาก เพราะการผ่าตัดเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างต่างประเทศ เขามีการพบจิตแพทย์หลายครั้ง มีการทดสอบอื่นๆ อีกมาก กว่าจะผ่าตัดแปลงเพศ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าในบัตรประชาชนจากนายเป็นนางสาวนั้น ถ้าคุณแปลงเพศให้เขาแล้ว คุณก็ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าจากนายเป็นนางสาวให้เขาด้วย เพราะร่างกายได้เปลี่ยนเป็นผู้หญิงไปแล้ว" ดร.ปริญญา กล่าว
 

 ด้าน ผศ.ดร.มนัส นามวงศ์ คณะวิทยาการจัดการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า

เมื่อโลกกำหนดให้มีแค่สองเพศ เพศที่สามจึงต้องพยายามเข้าทางเพศใดเพศหนึ่งให้ได้ เพื่อให้สังคมยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ ส่วนเรื่องการที่นักศึกษาชายแต่งชุดนักศึกษาผู้หญิงนั้น ขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอน ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการที่เขาแต่งชุดนักศึกษาหญิงก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร บางคนทำตัวเรียบร้อยกว่าผู้หญิงแท้เสียอีก ส่วนปัญหาที่พบอาจเป็นเรื่องการใช้ห้องน้ำ เพราะนักศึกษาหญิงบางรายก็ไม่พอใจ
 

 ขณะที่ นพ.กมล วัฒนไกร ประธานฝ่ายวิชาการ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

การกินฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลตั้งแต่อายุยังน้อย และกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในกลุ่มของผู้หญิงนั้นจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทรวงอก แต่หากเป็นกลุ่มชายที่กินฮอร์โมนเพศหญิงเป็นระยะเวลานาน ยังไม่มีผลวิจัยยืนยันว่าเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเหมือนผู้หญิงหรือไม่ แต่คาดว่าการกินฮอร์โมนเพศหญิงไม่ได้มีความปลอดภัย 100% ส่วนกรณีผู้ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อน และต้องผ่านการทดสอบจากจิตแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ทั้งนี้ผู้ชายที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศมักจะอยู่ในวัยที่ร่างกายเจริญเต็มที่หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์