ราชบัณฑิตฯ ค้านโปสกวนชี้หยาบคาย


นักวิชาการ-ราชบัณฑิตฯเห็นแตกต่าง 'โปสกวน' คำโดนใจวัยรุ่น นายกสมาคมครูฯบอกหยาบคาย ไม่ควรเผยแพร่ในที่สาธารณะ แนะยึดพระราชดำรัสในหลวงให้'คิดดี พูดดี ทำดี' วธ.หวั่นกลายเป็นแฟชั่น อจ.จุฬาฯ-'มศว.'แนะผู้ใหญ่เปิดใจกว้าง

เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยกรณีมีกลุ่มพ่อค้าทำโปสการ์ดในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่า 'โปสกวน' โดยใช้คำด่า เช่น 'E หอย', 'คว๊าย...ควาย ที่ยังรักมึงอยู่ทุกวันนี้' มาขายและได้รับความสนใจกลุ่มวัยรุ่น และนิสิตนักศึกษาว่า ถือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งรู้สึกเฉยๆ ความจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นถึงการคิดนอกกรอบ และการสร้างสรรค์ กลุ่มที่สนใจซื้อโปสกวนนั้น จะเป็นคนกลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มผู้ใหญ่ที่เห็นแล้วมันโดนใจ 'ผมมองว่าเป็นการสร้างสรรค์งานประเภทหนึ่ง ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าไม่สุภาพ หยาบคาย แต่คนที่ซื้อต้องคิดแล้วว่าจะส่งให้กับใคร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่ตัวเองสนิท บางคนซื้อไปเพราะความแปลก และไม่ได้คิดจะส่งให้ใคร หากหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือดูแลในส่วนของวัฒนธรรม และภาษา อาจทักท้วง ซึ่งทำได้ แต่ไม่ควรสั่งห้าม หรือสั่งเก็บ' นายวิรุณกล่าว



นายวิรุณกล่าวว่า การที่คนคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมา ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งไม่อยากเห็นสังคมนี้ทำอะไรเหมือนๆ กัน ใช้ระบบสั่งวัยรุ่นให้เดินเข้าแถวมากเกินไป เพราะจะทำลายพลังสร้างสรรค์ในตัวมนุษย์ ทำให้คนไทยไม่ค่อยคิดสร้างสรรค์ เพราะถูกกรอบแห่งระเบียบครอบไว้ตลอดเวลา สังคมไทยจึงเหมือนสังคมทหารเกณฑ์ที่ต้องสั่งการอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าทำนอกคำสั่งจะถือว่าผิด และถูกลงโทษ เชื่อว่าเด็กๆ คิดได้ว่าจะส่งโปสกวนไปให้ใคร และไม่ควรส่งไปให้ใคร ต่างประเทศก็มีโปสกวนในลักษณะนี้ ดูแล้วเป็นเรื่องล้อกันเล่นในกลุ่มเพื่อนฝูง มากกว่าจะเป็นเรื่องของความไม่สุภาพ

นายวิรุณกล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่าสังคมที่ผู้ใหญ่เติบโตมานั้น ต่างจากสังคมที่เด็กเป็นอยู่ ผู้ใหญ่ต้องปรับทรรศนะบางอย่างลงบ้าง อย่ายึดติดว่าเด็กสมัยนี้ต้องเหมือนกับสมัยตัวเอง ต้องเข้าใจ และเข้าถึงพวกเขา ขอเพียงเด็ก และเยาวชนเป็นคนดี ก็ให้เป็นตัวของเขาเอง มีอิสระทางความคิด อะไรอาจไม่ถูกไม่ควรก็เตือนด้วยสายตาที่เข้าใจ ไม่ใช่ตำหนิ หรือจับผิดจนเด็กรู้สึกว่าอะไรที่ไม่ดี ที่เลวร้าย เด็กเป็นคนเริ่มต้นเสมอ ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนถึงความคิด และความรู้สึกของเด็ก และเยาวชนรุ่นใหม่ในลักษณะที่พิลึก และแปลกประหลาด ซึ่งเริ่มขยายวงกว้างในแวดวงโฆษณาบ้างแล้ว เนื่องจากเป็นคำโดนใจวัยรุ่น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องพยายามทำความเข้าใจ พร้อมทั้งเปิดใจกว้างยอมรับ ที่สำคัญไม่อยากให้ผู้ใหญ่มองเรื่องดังกล่าวในแง่ลบ'เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ประกอบการต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่แรง และตรงใจวัยรุ่น เพื่อขายผลิตภัณฑ์ หากมองในแง่บวกจะเป็นการเปิดเวทีสาธารณะให้เด็ก และเยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความรู้สึกนึกคิดตามธรรมชาติ ถ้าสังคมยิ่งปิดกั้น อาจเกิดผลเสียตามมา โดยเด็ก และเยาวชนอาจไปแอบทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมมากกว่านี้' นายสมพงษ์กล่าว

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เป็นการใช้ภาษาตามธรรมชาติของเด็ก และเยาวชน แต่การนำภาษาดิบที่ยังไม่ผ่านการขัดเกลาไปวางขายในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะประเทศไทยมีภาษาที่ผ่านการขัดเกลา และเหมาะสมที่จะนำมาใช้อยู่แล้ว การนำคำดิบมาเผยแพร่ในโปสกวน แล้ววางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในขณะนี้ไม่ถูกกาละเทศะ โดยปกติคำดิบเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เป็นการส่วนตัว หรือใช้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น หากโปสกวนดังกล่าวแพร่กระจายออกไปในวงกว้างขึ้น จะกลายเป็นแฟชั่น ทำให้เด็กและเยาวชนหลงผิดไปกับสื่ออันตราย ดังนั้น ผู้ปกครองควรสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้บุตรหลานหลงผิดไปกับสื่ออันตรายเหล่านี้'แม้ว่าโปสกวนจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมชั่วคราว แต่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีอารยธรรม และศีลธรรมที่ดีงาม ดังนั้น การใช้ภาษาในการสื่อสารต้องไม่ละเมิดสังคม และพิจารณาความเหมาะสมของสังคมที่มี 2 ขั้ว ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มร่วมสมัย เข้าใจว่าวัยรุ่นชอบอะไรที่แรงๆ โดนใจ แต่ต้องเป็นไปในเรื่องที่สร้างสรรค์ เพราะเด็ก และเยาวชนเหล่านี้เป็นอนาคตของชาติ หากสังคมส่งเสริมในทางที่ไม่ดีก็จะเป็นการฉุดเด็ก และเยาวชนให้หลงผิด' น.ส.ลัดดากล่าว



นางกาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และราชบัณฑิต กล่าวว่า มองโปสกวนว่าเป็นคำหยาบคาย ไม่เหมาะสมที่จะนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ เพราะสังคมไทยมีวัฒนธรรม และภาษาที่ดีงาม จึงไม่ควรส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชนพูดคำหยาบคาย โดยเฉพาะผู้หญิง เพราะการใช้คำหยาบคายในการสื่อสารทั้งการพูด และการเขียน สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลนั้นๆ ขาดการศึกษา มีพื้นฐานความคิดต่ำ หากผู้ใดใช้คำหยาบคายในการสื่อสารจะไม่เป็นที่น่ายกย่องของผู้รับฟัง


นางกาญจนากล่าวว่า ที่ผ่านมา การใช้คำหยาบคายจะเกิดขึ้นเมื่อมีการทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แต่ขณะนี้พบว่ามีนักเรียนใช้คำหยาบคายโดยไม่รู้สึกอายในที่สาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะใช้สื่อสารกับเพื่อนในกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก หากสังคมปล่อยให้มีการใช้คำหยาบคายมากขึ้น จะส่งผลให้มีการสรรหาคำหยาบคายมาวางจำหน่ายมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการดำเนินการในทางกลับกัน โดยสรรหาคำพูดที่ไพเพราะ และกินใจผู้ฟังมาวางจำหน่ายแทน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนอยากทำดี'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสหลายครั้งว่า ให้คนไทยคิดดี พูดดี ทำดี หากสังคมไทยส่งเสริมให้คนคิดไม่ดี พูดไม่ดี แล้วจะให้คนทำดีคงเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าคำพูดดีๆ ที่มีความหมายกินใจวัยรุ่นมีจำนวนมาก เข้าใจว่าผู้ประกอบการคงมีความสามารถในการนำเสนอคำพูดดีๆ ให้สามารถขายได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนไทยคิดดี พูดดี ทำดีสนองพระราชดำรัสในหลวงได้อีกทางหนึ่ง' นางกาญจนากล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์