นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า ปตท.จำเป็นต้องชะลอโครงการแจกเงินหมื่นบาทต่อคัน สำหรับประชาชนที่ต้องการนำรถไปปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ที่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ออกไปก่อน โดยจะเริ่มเปิดโครงการดังกล่าวอีกครั้งในเดือน พ.ค.
สาเหตุเพราะเกรงว่าหากเร่งผลักดันโครงการนี้เร็วเกินไป จะทำให้ปริมาณเอ็นจีวีที่
ปตท.ยังมีปริมาณจัดหาและจำนวนปั๊มเอ็นจีวีที่มีอยู่จำกัด อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน แต่ยืนยันว่าหลังเปิดโครงการอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้ จะมีเอ็นจีวีเพียงพอกับความต้องการของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะในเดือน มิ.ย. ปตท.จะมีปั๊มเอ็นจีวีทั่วประเทศรวม 250 แห่งจากขณะนี้มีอยู่เพียง 200 แห่ง และจะมีปริมาณเอ็นจีวีพร้อมป้อนให้ประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2,000 ตัน จากขณะนี้มีเพียงวันละ 1,300 ตัน และคาดว่าในเดือน ธ.ค.จะมีปริมาณวันละ 3,200 ตัน
“ในปีนี้ ปตท.ยังจะตรึงราคาขายเอ็นจีวีที่ 8.50 บาทต่อ กก. จากที่ต้องจำหน่ายในราคา 13 บาทต่อ กก.
จึงจะคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ และแม้ว่าต้องแบกภาระขาดทุน 2,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยจะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้ปีละ 7,000 ล้านบาท ก็ถือว่าคุ้มค่าสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม เพราะเอ็นจีวี 1 กก. เทียบเท่ากับน้ำมัน 1.15 ลิตร”
สาเหตุที่เอ็นจีวีจะยังขาดแคลนไปจนถึงกลางปีนี้ เนื่องจากการขยายปั๊มเอ็นจีวียังมีอุปสรรคหลายเรื่อง
และสัดส่วนการเติมเอ็นจีวีที่รถบรรทุก รถเมล์ ขสมก. ที่เติมต่อครั้งต่อคัน ต้องใช้เอ็นจีวีคันละ 200 กก. ขณะที่รถแท็กซี่ใช้วันละ 30 กก.ต่อวัน รถยนต์บ้านใช้ 6 กก.ต่อวัน
นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน ปตท.กล่าวว่า
ตั้งแต่เวลา 05.00 น. วันที่ 3 ม.ค.เป็นต้นไป ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดอีก 40 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากค่าการตลาดของผู้ค้าติดลบ จากการขายน้ำมันทุกชนิด 1.52 บาทต่อลิตร จึงไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป จึงทำให้ราคาเบนซิน 95 อยู่ที่ 33.29 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 29.29 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 อยู่ที่ 31.99 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 28.49 บาทต่อลิตร ดีเซล 29.74 บาทต่อลิตร ไบโอดีเซล 28.74 บาทต่อลิตร อี 20 พลัสอยู่ที่ 27.29 บาทต่อลิตร.