เผยเรื่องราวที่ พระพี่นางฯสนพระทัย ทรงโปรดกีฬาและทรงบินเดี่ยว

กีฬาที่ได้ทรงอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การทรงม้า แบดมินตันและกอล์ฟ และทรงฝึกบินขั้นสูงจำนวน ๑๙๕ เที่ยว โดยทรงบินขึ้นลงในวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑๒ เที่ยว

เว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  www.hrh84yrs.org ได้รวบรวมเรื่องราวที่สมเด็จพระพี่นางฯทรงให้ความสนใจ พร้อมทั้งภาพเก่ามานำเสนอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ  ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่ง "มติชนออนไลน์" เห็นว่าเป็นประโยชน์และควรบันทึกไว้ดังนี้
 
ความสนพระทัยด้านการอ่านเขียน


สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระหฤทัยด้านการอ่านและการเขียน มาแต่ทรงพระเยาว์เมื่อทรงศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ในโรงเรียนราชินี ได้ทรงอ่านหนังสือภาษาไทยเท่าที่จะทรงหาได้ แต่ในเวลานั้นหนังสือสำหรับเด็กยังมีน้อยจึงทรงอ่านหนังสือพิมพ์ ทรงจำได้ว่าทรงอ่านเรื่องสำหรับเด็กเรื่องหนึ่ง ซึ่งต่อมาเมื่อเสด็จไปศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้อ่านเรื่องเดียวกันนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสคือเรื่อง Sans Famille

เมื่อทรงศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาโดยเฉพาะที่โรงเรียนนานาชาติที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงอ่านหนังสือวรรณคดีมาก และพบว่าการอ่านมีส่วนช่วยให้ภาษาฝรั่งเศสดีขึ้น เมื่อทรงงานเป็นอาจารย์วิชาภาษาฝรั่งเศส ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาค้นคว้าด้านการสอน ได้ทรงอ่านหนังสือด้านภาษาศาสตร์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังทรงอ่านและศึกษา ทางด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์มาโดยตลอด ในการเสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ จะทรงแสวงหาหนังสือและเอกสารเกี่ยวกับประเทศนั้นมาศึกษาอย่างละเอียดก่อนเสมอ


ในด้านการเขียน เมื่อพระชนมายุประมาณ ๙ พรรษาได้ทรงเริ่มออกวารสาร “รื่นรมย์” โดยทรงชักชวนให้พระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่อง ทรงทำหน้าที่บรรณาธิการ และทรงเขียนบทความลงวารสารนี้ด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ได้ทรงสนับสนุนให้ทรงอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ และเรียบเรียงเรื่อง ครั้งต่อมาได้จัดพิมพ์แจกในงานวันประสูติของ สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระอิสริยศักดิ์ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คือเรื่อง “นิทานสำหรับเด็ก” ความสามารถด้านการนิพนธ์ เป็นที่ประจักษ์จากผลงานอันประกอบด้วยพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ๑๑ เรื่อง พระนิพนธ์แปล ๓ เรื่อง พระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยว ๑๐ เรื่อง และ พระนิพนธ์บทความทางวิชาการ ๑ เรื่อง



ความสนพระทัยด้านกีฬา


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนรานิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระหฤทัย และทรงเล่นกีฬาหลายประเภทมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ หากแต่ทรงเล่นแข่งสนุกสนานธรรมดาดั่งเด็ก ๆ ทั่วไป แต่ทรงมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นแบบอย่างที่สมควรนำไปปลูกฝังแก่เด็กและเยาวชน ในสมัยทรงพระเยาว์ที่เมืองโลซานน์ ที่ทะเลสาบเลมอง (Lac Leman) มีอากาศหนาวเย็นทุกช่วงปลายปี ได้ทรงเล่นสเก็ตและสกี  การกรรเชียงสำรอง การตกปลา การขี่จักรยาน การเดินบนภูเขา


พอพระชนมายุราว ๑๓ พรรษา ขณะเสด็จไปประเทศนอร์เวย์ และประเทศเยอรมัน และแวะที่เมืองแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt) ได้เล่าถึงเรือเหาะเซปเปลิน (Zeppelin) ชื่อ ฮินเดนเบอร์ก (Hindenburg) ที่จะพานักท่องเที่ยวบินไปเหนือเมืองเบอร์ลิน ซึ่งขณะนั้น กำลังจะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอยู่ แสดงถึงความสนพระหฤทัยเรื่องกีฬาโอลิมปิก การเดินอากาศ - การบิน ต่อมาภายหลังเมื่อทรงเจริญพระชนม์ขึ้นก็ทรงฝึกบินด้วย


กีฬาหลายอย่างที่ได้ทรงอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การทรงม้า แบดมินตันและกอล์ฟ ที่วังสระปทุมมีคอร์ทแบดมินตันอยู่ ปรากฎหลักฐานในหนังสืออนุสรณ์สมาชิกสโมสรการบิน ว่าทรงพระเมตตาชวนครูฝึกบินและสมาชิกสโมสรการบินให้ไปเล่นแบดมินตัน และกอล์ฟเล็กที่ “บ้าน”(วังสระปทุม) ซึ่งเป็น “กอล์ฟเล็ก” ๙ หลุม และได้เคยทรงเล่นกับสมเด็จพระบรมราชชนนีเสมอ


การขับเครื่องบิน ทรงสมัครเข้าเป็นสมาชิกการบินพลเรือน ประเภทฝึกบิน รุ่นที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงสำเร็จตามหลักสูตรของสโมสรการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ทรงเริ่มการฝึกบินเมื่อ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. ทรงบินเดี่ยวเมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๐๔.๑๕ น. ใช้เวลาในการบิน ๓๗ นาที รวมเวลาก่อนทรงทำการบินเดี่ยว ๒๐ ชั่วโมง ๔๙ นาที ทรงฝึกบินขั้นสูงจำนวน ๑๙๕ เที่ยว โดยทรงบินขึ้นลงในวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑๒ เที่ยว ซึ่งตามปกติผู้ฝึกบินจะได้ประมาณ ๔ เที่ยว
 

เปตอง ทรงสนพระหฤทัยและทรงเล่นเปตองร่วมกับสมเด็จพระบรมราชชนนีอยู่เสมอ เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงนำกีฬานี้เข้ามาในประเทศไทยจนเป็นที่เผยแพร่กว้างขวาง ได้ทรงสนับสนุนพระราชทานเงินอุดหนุนสมาคมกีฬาเปตองถึงปีละ ๑ ล้านบาทเสมอมา ช่วยให้ได้ไปแข่งขันในต่างประเทศ จนชนะเลิศในการแข่งขันกีฬาเปตองครั้งล่าสุด มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน ๒๖ ประเทศ ผลการแข่งขันประเทศไทยได้เป็นอันดับที่ ๗ นับเป็นพระกรุณาธิคุณยิ่งต่อวงการกีฬาเปตอง



ความสนพระทัยด้านการถ่ายภาพ


สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระหฤทัยอย่างจริงจังในเรื่องการถ่ายภาพโดยที่ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ การใช้กล้องบันทึกภาพจึงมิใช่เพียงเพื่อเก็บภาพไว้ดูเล่นเท่านั้น แต่จะเป็นการบันทึกภาพอย่างมีจุดหมายทั้งในแง่ศิลปะและวิชาการ     ในการเสด็จเยือนโบราณสถานและสถานที่สำคัญทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทรงบันทึกภาพที่สนพระหฤทัยด้วยพระองค์เองเสมอ ภาพที่ทรงบันทึกไว้จะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงจัดทำประกอบพระนิพนธ์ในภายหลัง แม้การบันทึกภาพด้วยวีดิทัศน์ของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ในการทำข่าวเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ก็จะพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้บันทึกภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และมีความหมายสอดคล้องกับคำบรรยาย


ความสนพระทัยด้านการเรียนการสอน


ความสนพระหฤทัยและพระปรีชาสามารถด้านการศึกษาของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงอุดมศึกษาเท่านั้น ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาระดับต้นมีความสำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาคุณภาพของประชากรทั้งประเทศ

ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่อง ในการเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง การพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอน ทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ จากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งทรงพระราชทานพระอนุเคราะห์ แก่สมาคมฯ ในทุกทาง อาทิ ทรงสนับสนุนการพิมพ์วารสารของสมาคมเพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ พระราชทานพระนิพนธ์บทความลงวารสาร ทรงส่งเสริมให้สมาชิกครูได้เข้ารับการสัมมนา ดูงานและศึกษาต่อ เป็นต้น
 

การเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส และการวิจัยด้านภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย ทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาจึงเจริญรุดหน้าเป็นลำดับ ความรอบรู้ทางด้านวิชาการ และการอุทิศพระองค ์เพื่อการศึกษาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในหลายสาขาวิชา และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่งอาทิ   รัฐบาลฝรั่งเศสและองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)



ความสนพระทัยด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีความสนพระหฤทัยในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอันมาก  แม้แต่การเสด็จระหว่างปฏิบัติพระราชกิจ ก็ยังทรงสนพระหฤทัยในสถานที่อื่น ๆ และก็จะเสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่นั้น ๆ ด้วยพระองค์เอง และยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเป็นผู้นำคณะบุคคลและสมาคมต่าง ๆ  ไปทัศนศึกษาโบราณสถานหลายแห่งอีกด้วย อีกทั้งยังทรงนึกถึงประชาชนทั่วไป โดยได้พระราชทานข้อแนะนำแก่ผู้สื่อข่าวของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ   ให้เน้นข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยมีความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อจะได้สำนึกคุณค่า และรู้จักรักษามรดกของชาติไว้ให้ชนรุ่นหลังต่อไป 
 
การเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานแต่ละแห่งในแต่ละพื้นที่ และในแต่ละจังหวัดนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มิได้ทรงรับทราบเพียงข้อมูลจากการบรรยายของนักโบราณคดีเท่านั้น แต่ทรงศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณสถานนั้น ๆ มาก่อนด้วย และทรงสอบถามรายละเอียดจากผู้รู้อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ด้วยความรักและความหวงแหนมรดกทางประวัติศาสตร์ของชาติ ทรงสอบถามถึงวิธีการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน การขุดสำรวจ การฟื้นฟูบูรณะ และผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับโบราณสถานนั้น ๆ ทรงพิจารณาด้วยหลักวิชาการ และทรงวินิจฉัยด้วยเหตุผล ทรงแนะนำ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทุกด้าน ในทุกหนแห่งที่เสด็จไป เพื่อให้สมบัติชาติคงอยู่พร้อมคุณค่าตามเวลาและสถานอันควร


สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้ประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม และโบราณคดีด้วยพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์เอง ทรงพอพระหฤทัยในการเผื่อแผ่สิ่งที่รู้ที่เห็นแก่ผู้อื่น ให้รู้ตามพระองค์ทรงเป็นครูผู้ชี้นำประชาชนโดยทั่วไปให้เห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม โบราณคดีประวัติศาสตร์และมรดกโลก อันก่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน และความตระหนักในความเป็นเจ้าของร่วมกัน
 
ความสนพระทัยด้านการต่างประเทศ


สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จเยือนประเทศต่างๆ  ตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการและเสด็จเยือนเป็นทางการส่วนพระองค์ เมื่อทรงมีความสนพระหฤทัย   การเสด็จเยือนต่างประเทศ นอกจากเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี กับเจ้าของประเทศแล้วก็ยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักประเทศในแง่มุมต่างๆ อย่างถ่องแท้ด้วย  ในการเสด็จเยือนต่างประเทศ จะทรงศึกษาความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรมของประเทศนั้นก่อนที่จะจัดทำกำหนดการ  การจัดทำข่าวสารการเสด็จเยือนต่างประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ จึงมิใช่เพียงว่าเสด็จที่ใดและทรงพบใคร แต่จะให้ข้อมูลทุกๆ ด้านของประเทศนั้น ทั้งทางลึกและทางกว้าง ทรงค้นคว้าข้อมูล และตรวจแก้บทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เองก่อนการเสนอข่าวทุกครั้งเพื่อความถูกต้อง

“...เพราะพอไปถึง เขาก็วิ่งไปถ่ายอะไรที่เขาชอบ ถ่ายดอกไม้
ถ่ายอะไรก็ตามนะ แล้วอันนี้ก่อน อันนั้นก่อน ฉันบอกว่าไม่ได้
พยายามอยู่กับฉันหน่อย เพราะฉันอยู่ติดกับคนอธิบาย...”

   

ภายหลังการเสด็จเยือนต่างประเทศ บ่อยครั้งจะทรงนิพนธ์ และรวบรวมเรื่องราวของประเทศนั้น จัดพิมพ์เป็นหนังสือและวีดีทัศน์พระราชทานเป็นวิทยาทานด้วย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์