ชีพจรเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2551 ยังจะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แต่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด ราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดปี 2550 นี้ และจะสูงต่อไปตลอดปี 2551 จะเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเสื่อมถอยให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย และเศรษฐกิจโลกมากที่สุด หวังสร้างเครดิตด้วยการแก้ปัญหาที่หวังผลในระยะสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการลอยตัวก๊าซหุงต้มหรือลดการเก็บเงิน จากผู้ใช้น้ำมันเข้าไปสะสมในกองทุนน้ำมัน ขณะที่ยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือกของไทยยังไร้หลัก เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล “ขิงแก่” ซึ่งมีแนวทางการสร้าง “พลังงานทางเลือก” เป็นนโยบายสร้างเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ (เฮดจ์ฟันด์) จะยังเข้ามากว้านซื้อน้ำมันดิบเพื่อเก็งกำไรต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) จะยังคงกำลังการผลิตไว้ที่วันละ 27-28 ล้านบาร์เรล เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบและสำเร็จรูปให้อยู่ในช่วง 80-100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยส่วนที่ซ้ำเติมประชาชนมากที่สุดในปีนี้ คือ นโยบายการประกาศลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มของกระทรวงพลังงานตามแผนบันได 6 ขั้น โดยอนุมัติให้มีการลอยตัวราคา 6 ครั้งต่อเนื่อง เริ่มจากให้ปรับขึ้นราคาทันทีกิโลกรัม (กก.) ละ 1.20 บาท เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้นอีก 18 บาทต่อถัง จากนั้นจะปรับขึ้นทุกๆ 3 เดือน หรือรายไตรมาส หรือในเดือน เม.ย. เดือน ก.ค. เดือน ต.ค. ก่อนไปจบแผนขั้นที่ 6 ในเดือน ม.ค.2552 โดยแต่ละไตรมาส ราคาจะขยับขึ้นครั้งละ 2 บาทต่อ กก. เท่ากับว่า เมื่อเข้าสู่การลอยตัวราคาเต็มรูปแบบ ราคาก๊าซหุงต้มจะเพิ่มขึ้น 9.70 บาทต่อ กก. ส่งผลให้ราคาขายขนาดถัง 15 กก. ปรับขึ้นสูงถึง 145.50 บาท ราคาขายเพิ่มจากถังละ 252 บาท เป็น 397.50 บาทต่อถัง และเมื่อรวมกับค่าขนส่งที่ร้านค้าปลีกจะเก็บจากลูกค้า 5-15 บาทต่อครั้ง เบ็ดเสร็จราคาก๊าซหุงต้มที่ประชาชนต้องจ่าย หลังก้าวผ่านบันไดขั้นที่ 6 จะอยู่ระหว่าง 403.50-413.50 บาทต่อถังทีเดียว
วิกฤติพลังงาน จึงเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่พร้อมจะปะทุอยู่ทุกเวลา โดยเฉพาะหากรัฐบาลใหม่กำหนดยุทธศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง
วันนี้ ภายใต้วิกฤติราคาน้ำมัน และพลังงาน คนไทยยัง...ไร้ทางเลือก
นักวิเคราะห์ด้านพลังงานระบุว่า ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญหน้ากับราคาน้ำมัน และพลังงานที่สูงต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มเป็น 87 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มจากปีก่อนวันละ 2 ล้านบาร์เรล
ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกในประเทศ จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 27-32 บาทต่อลิตรต่อไป
ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 2629 บาทต่อลิตร ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา
ภายในเดือน ม.ค.ก็จะเข้าสู่แผนขั้นที่ 2 ที่จะต้องปรับราคาขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อ กก.
ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีคิวจะต้องทยอยปรับราคาขึ้นตามราคาน้ำมันเช่นกัน
ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่เปรียบเสมือนหนามยอกอกผู้ใช้ไฟฟ้าต้องขยับปรับขึ้นด้วย โดยการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟงวดเดือน ก.พ.-พ.ค., มิ.ย.-ก.ย. และงวดเดือน ต.ค. 2551-ม.ค. 2552 ค่าเอฟทีจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่างวดละ 5-10 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย
ทางออก..พลังงาน ทางเลือก
ทางออกที่ประชาชนจำนวนมากพยายามที่จะ “เลือก” คือ การหันมาใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ แทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่นับวันราคาของ “ทองคำดำ” จะทะยานสูงขึ้น
ทางเลือกของผู้ใช้น้ำมันเบนซิน จึงหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมัน เบนซิน 95 ลิตรละ 4 บาท และแก๊สโซฮอล์ 91 ถูกกว่าเบนซิน 91 ลิตรละ 3.50 บาท หรืออีกทางหนึ่งคือ ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เพื่อจะใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ราคาถูกกว่ามาก
จากการตรวจสอบข้อมูลของโรงงานผลิตเอทานอล
ที่เป็นส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน เพื่อผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์นั้น ในปีนี้จะผลิตเอทานอลรวมทั้งสิ้น 18 โรงงาน กำลังผลิตรวม 2.47 ล้านลิตรต่อวัน ยังเพียงพอต่อรับกับความต้องการใช้เอทานอลเพียงวันละ 800,000 ลิตร ส่วนที่เหลือก็สามารถส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศ
ในส่วนของผู้ใช้น้ำมันดีเซลนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป ผู้ค้าน้ำมันก็จะต้องยุติการจำหน่ายน้ำมันดีเซลจำหน่ายในประเทศเพราะรัฐบาลให้ยกเลิกจำหน่าย โดยผู้ค้าน้ำมันจะต้องเปลี่ยนไปจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล บี 2 (น้ำมันดีเซล 98% ไบโอดีเซล 2%) ซึ่งมีราคาถูกกว่าดีเซลปกติลิตรละ 1 บาท และน้ำมันไบโอดีเซล บี 5 (น้ำมันดีเซล 95% ไบโอดีเซล 5%) ที่จะมีราคาถูกกว่าไบโอดีเซล บี 2 อีกลิตรละ 1 บาท
โดยในขณะนี้ ปริมาณไบโอดีเซลที่นำไปผสมกับน้ำมันดีเซลเป็นไบโอดีเซล ซึ่งมีวัตถุดิบหลักจากปาล์มน้ำมันนั้น มีกำลังการผลิตวันละ 1.6 ล้านลิตร จาก 8 โรงงาน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการเช่นกัน
แต่หากเจาะลึกลงไปถึงการใช้พลังงานทดแทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพืชน้ำมัน 100% หรือไบโอดีเซล บี 100 ที่ใช้ในภาคการเกษตรนั้น โครงการส่งผ่านความรู้จากภาครัฐไปยังประชาชน ระดับรากหญ้ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ส่งผลให้มีปริมาณพื้นที่ที่เกษตรกรไทยทั่วประเทศ สามารถปลูกสบู่ดำ และปาล์มน้ำมัน เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซล บี 100 ได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผน 5 ปี เพื่อร่วมมือกันเพื่อให้เกษตรกรไทยได้ใช้ไบโอดีเซล บี 100 อย่างทั่วถึง