สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์ เมื่อเวลา 2 นาฬิกา 54 นาที วันที่ 2 มกราคม 2551 รวมพระชันษา 84 ปี
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ เมืองเอดิน เบอระ สก็อตแลนด์ ประเทศอังกฤษ พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ เมื่อยังทรงพระเยาว์
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงย้ายครอบครัวไปพำนัก ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงสำเร็จการศึกษา วิทยาศาสตร์ด้านวิชาเคมี ควบคู่กับวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แล้วเสด็จนิวัตประเทศไทย ระหว่างพุทธศักราช 2493-2501 ทรงเป็นพระอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศสและวรรณคดีฝรั่งเศส
ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จไปทรงเรียนวิชาแพทย์อยู่ที่เอดินเบอระ ในประเทศสก๊อตแลนด์ โดยทรงมีพระนามในสูติบัตรอังกฤษว่า 'เมย์' (MAY) ตามที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จไปทรงจดทะเบียนเกิด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า 'หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา'
ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2470 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงสถาปนาเป็น 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา' และในรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อพ.ศ. 2478 ทรงเฉลิมพระเกียรติยศเป็น 'สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา'
ครั้นเมื่อ สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า เฉลิมพระเกียรติยศเป็น 'สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์' เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นพระโสทรเชษฐภคินีเธอพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ด้วยทรงรับราชการพระองค์ทรงสนองพระเดชพระคุณพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงประชาชนชาวไทยทั่วไป
ชีวิตการศึกษา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเริ่มการศึกษาระดับประถมศึกษา เมื่อพระชนมายุได้ 6 - 10 พรรษาที่โรงเรียนราชินี กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเสด็จทิวงคตใน พ.ศ.2474 พระองค์ได้เสด็จไปประทับยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระราชมารดาและพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ ได้ทรงเข้ารับการศึกษาต่อจนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ที่เมืองโลซาน โดยพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา ในการสอบเลื่อนชั้นแต่ละปี ทรงทำคะแนนได้ผลดีมาก โดยในปี 2485 ทรงสอบผ่านชั้นสุดท้ายเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลายได้ดีเยี่ยมเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระองค์ทรงศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษา เมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ก็ทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซาน จนได้รับปริญญาตรีในวิชาเคมี เมื่อ พ.ศ. 2491 หลังจากนั้นทรงศึกษาต่อในวิชาการศึกษาวรรณคดี ปรัชญา จิตวิทยาและภาษา จนทรงมีความรู้ในภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี
พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาโดยตลอด ซึ่งทรงมีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการแพทย์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ
นอกจากนี้ยังทรงพระอัจริยภาพในด้านการประพันธ์ พระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง เช่น เวลาเป็นของมีค่า, แม่เล่าให้ฟัง ,เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ มหามงกุฎราชสันตติวงศ์ และพระนิพนธ์เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ที่เสด็จประพาส
ปีพุทธศักราช 2512 ทรงรับเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงสอนและทรงงานด้านการบริหารในหน้าที่หัวหน้าสาขาวิชาการภาษาต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีนและรัสเซีย ทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตร ดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ปีพุทธศักราช 2516 ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม ทรงเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8 ปี จากนั้น จึงทรงขอเป็นอาจารย์พิเศษอย่างเดียวด้วย ต้องทรงติดตามพระราชภารกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้านหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
น้ำพระหฤทัยในความเป็นครูนั้นเปี่ยมล้นมิเหือดหาย ทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ขอมาตลอด ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หลายรุ่น และด้วยประสบการณ์และพระปรีชาญาณในการสอนภาษาฝรั่งเศสเป็นเวลาอันยาวนาน พุทธศักราช 2520 จึงทรงก่อตั้ง สมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ในการแก้ไขการสอนให้กับบรรดาครูทั้งหลายทรงได้รับการถวายพระเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศส ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญตราชั้นสูงสุด ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ เมื่อพุทธศักราช 2522
ทรงสนพระทัยการศึกษาของเยาวชน ได้อุปถัมภ์โครงการ โอลิมปิควิชาการ เพื่อการแข่งขันและพัฒนาวิชาการวิทยาศาสตร์ในประเทศให้ก้าวทันสากล ทรงสร้างสื่อการเรียนให้แก่เด็กเล็กในโรงเรียนชายแดน ที่มิได้มีโอกาสเรียนชั้นอนุบาล เพื่อสามารถอ่านเขียนทันเด็กที่เรียนล่วงหน้าไปก่อนเกณฑ์ และร่วมสร้างโรงเรียนในความดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนเด็กในกรุงเทพมหานครนั้น ทรงให้ความอนุเคราะห์เด็กเล็กในสลัมต่างๆ
เมื่อทรงหยุดการสอน พระกรณียกิจส่วนใหญ่ จึงเป็นงานสังคมสงเคราะห์ ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยโครงการแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว.แล้ว มีมูลนิธิ กองทุน สมาคม ศูนย์สงเคราะห์ อีกจำนวนมากกว่า 30 รายการ ที่พระองค์ทรงมีภาระในการบริหาร เช่น มูลนิธิโรคไต มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิขาเทียม มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิโลกสีเขียว กองทุนหมอเจ้าฟ้า กองทุนการกุศล กว. กองทุนการกุศล สมเด็จย่า สมาคมปราบวัณโรคเชียงใหม่ สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย ศูนย์เด็กอ่อนวัยก่อนเรียน ณ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นต้น
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับการอภิบาลให้ทรงมีพระจริยวัตรโปรดการอ่าน การศึกษามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สั่งสมประสบการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี สิ่งแวดล้อม และทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองตลอดเวลา ด้วยความสนพระทัยในศาสตร์ทั้งหลาย จึงทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้านักประพันธ์ และเจ้าฟ้านักวิชาการ มีหนังสือพระนิพนธ์จำนวนมาก ที่จัดพิมพ์ขึ้นให้ได้ศึกษาหาความรู้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่อง แม่เล่าให้ฟัง หรือ ยุวกษัตริย์ มิใช่เป็นเรื่องประวัติบุคคลด้านเดียว หากแต่ให้ความเข้าใจทั้งประวัติศาสตร์ ประเพณี การเมือง อันเป็นวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งมีความสนุกสนานสอดแทรกไว้อย่างกลมกลืน หรือสารคดีข่าวเกี่ยวกับการเสด็จไปทัศนศึกษาในต่างถิ่น เป็นสิ่งที่ชาวไทยโชคดีได้มีโอกาสเห็น เสมือนร่วมเดินทางไปกับพระองค์ด้วย โดยจะทรงพิถีพิถันให้จัดทำเป็นสารคดีท่องเที่ยวสั้นๆ ที่มากด้วยความรู้ นำเผยแพร่เกือบทุกครั้ง ทำให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสไปถึง ได้รับทราบและรับความรู้อย่างกว้างขวางไปด้วย
โดยใน พ.ศ. ๒๕๒๕ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสูงคือ Commandeur de L Ordre des Arts et Lettres (Insignia of Commander in theOrder of Arts and Letters) แด่พระองค์พระเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน ก็คือ ทรงได้รับเหรียญ วิคเตอร์ ฮิวโก จากผู้อำนวยการยูเนสโก แห่งสหประชาชาติ ในงานจัดนิทรรศการขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ที่กรุงปารีส เพราะด้วยการที่พระองค์ได้ทรงส่งเสริมศิลปวิทยาการและทรงบำเพ็ญประโยชน์เป็นอเนกประการในด้านสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ
ด้านการศึกษา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีรับสั่งว่า 'ฉันชอบการสอนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ ...และตอนนั้นคิดจะเรียนเรื่องการเป็นครูเหมือนกัน...' (หนังสือพลอยแกมเพชร) ดังนั้น เมื่อทรงจบการศึกษาแล้ว ก็ได้เสด็จกลับมาเป็นอาจารย์สมดังพระทัยที่ตั้งไว้ โดยทรงเริ่มปฏิบัติงานเป็นอาจารย์พิเศษในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2495 โดยทรงสอนวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส และการสนทนาภาษาฝรั่งเศส แก่นิสิตปีที่ 2, 3 และ 4 จนถึงปี พ.ศ. 2501 และในปี พ.ศ.2512 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กราบทูลขอพระราชทานพระกรุณา จึงทรงรับเป็นหัวหน้าสาขาภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย รวมถึงยังทรงสอนภาษาฝรั่งเสสให้กับนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอีกหลายๆ แห่ง ทั้ง จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และโดยที่ทรงตระหนักถึงความต่อเนื่องในการศึกษาภาษาฝรั่งเศสในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จึงทรงก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2520 และในฐานะที่พระองค์ทรงปฏิบัติงานด้านการสอนมาจนถึงเดือน มกราคม 2521 จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่ง 'ศาสตราจารย์' ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ตระหนักถึงพระปรีชาสมารถอันเป็นเลิศ และที่ทรงได้บำเพ็ญพระองค์เป็นแบบอย่างอันดีงาม จึงได้ถวายเหรียญตราชั้นสูงสุดทางด้ารนศิลปะและอักษรศาสตร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2522
นอกจากจะทรงอุทิศพระองค์ให้แก่งานทางวิชาการแล้ว สมเด็จพระพี่นางเธอ ยังทรงประทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนสำหรับจัดซื้อหนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอน และประทานทุนการศึกษาระดับต่างๆ แก่ศิษย์และเยาวชนที่ด้อยโอกาสอีกด้วย สำหรับพระปรีชาสามารถที่มีนอกเหนือไปกว่าเรื่องทั่วไปนั้น คือ ทรงมีพระปรีชาสามารถในการขับเครื่องบินปีก 2 ชั้น และทรงขับเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย
ด้านการแพทย์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากลัยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงสนพระทัยต่อทุกข์สุข และสวัสดิภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์ได้สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในโครงการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) โดยทรงรับเป็นอุปนายิกากิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นโอกาสให้ทรงรับทราบข้อมูลต่าง ๆ จากการออกเยี่ยมข้าราชการ ทหาร ตำรวจ อาสามาสมัคร และประชาชนตามท้องถิ่นธุรกันดารทุกหนทุกแห่งจากการเสด็จตามสมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนีเพื่อสอบถามทุกข์สุขของราษฎร
พระองค์ทรงศึกษาและสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างใกล้ชิด จึงทรงรับภาระในการช่วยเหลือประชาชน ด้านการส่งเสริมสุขภาพ รักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ ในการส่งเสริมสุขอนามัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตแม่และเด็ก ซึ่งทรงห่วงใยในสวัสดิภาพเด็กและครอบครัวในชุมชนแออัดต่างๆ ด้วยการลงพื้นที่ไปเยี่ยมชุมชนแออัดด้วยพระองค์เอง และทรงรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมไว้ในพระอุปถัมภ์ และทรงพระเมตตาประทานทุนทรัพย์ช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของมูลนิธิมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ทรงมีพระดำริช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่ไม่มีเงินฟอกไตเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก โดยทรงเล็งเห็นว่า พระบรมราชชนก็ทรงประชวรด้วยโรคนี้มาก่อน ซึ่งการดำเนินงานของมูลนิธิโรคไตเป็นไปอย่างครบวงจร ทั้งการให้ความรู้ในการปฏิบัติตัว การรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยบุคคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้รักษาผู้ป่วยให้ดีกว่าเดิม ทั้งยังทรงเป็นประธานมุลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท
ชีวิตสมรส
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงอภิเษกสมรสกับ พันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (ถึงแก่กรรม) โดยมีพระธิดาคนเดียว คือท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สมรสกับนายสินธู ศรสงคราม มีบุตร คือคุณจิทัศ ศรสงคราม)
ต่อมา พระองค์ทรงอภิเษกสมรสอีกครั้งกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และหม่อมระวี ไกยานนท์)