มิจฉาชีพหัวหมออาศัยความโลภเป็นตัวล่อ

ตรงเข้าลักขโมย ฉกชิงวิ่งราว


ยามใดที่ “มาม่า” ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มักจะเป็นดัชนีชี้วัดว่า “เศรษฐกิจไทย” อยู่ในยามยาก พอ ๆ กับยามใดที่พวก “มิจฉาชีพทางการเงิน” ผุดขึ้นมาใช้สารพัดวิธีการฉ้อฉล ทุจริต ลักลอบโกงการทำธุรกรรมทางการเงินของคนที่รู้เท่าไม่ทันมาเป็นของตัวเองกระจายทั่วบ้านทั่วเมืองไปหมด ก็เป็นดัชนีบ่งบอกได้ว่า ปากท้องชาวบ้านเริ่มไม่อิ่ม และกำลังโหยหา “เงิน” ที่จะนำมาเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอด

คนที่มีแต่กำลัง ก็อาจจะไม่คิดมากนัก ตรงเข้าลักขโมย ฉกชิงวิ่งราว หนักข้อขึ้นมาก็ปล้น ชิงทรัพย์ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ใช้ความฉลาดเฉลียวของตัวเองในทางที่ผิด คิดค้นหาสารพันวิธีการทำให้เงินชาวบ้านมาอยู่ในกระเป๋าตัวเองแบบคลาสสิก และมั่นใจว่าแยบยลมากพอที่ตำรวจจะสาวไม่ถึง โดยอาศัยความโลภ อยากได้เพิ่ม ความกลัว ความหวาดวิตกเป็นเครื่องมือตกเหยื่อ แถมทำตัวเสมือนพยาธิตัวจี๊ด เมื่อจับเท็จได้ทางหนึ่ง ก็จะมีวิธีใหม่ไปโผล่อีกทางหนึ่งแทน

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจ เมื่อตลอดปี 50 ที่ผ่านมา มักจะได้ยินข่าวการฉ้อโกงด้วยกลวิธีที่แยบยล ไปจนถึงวิธีการที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ก็มีให้เห็นกันในยุคนี้ พ.ศ.นี้ ลองดูตัวอย่างของปีนี้กันดู

ลวงเงินจากบัตรพลาสติก


วิธีการแรก ๆ ที่ประชาชนโดนหลอกลวง เริ่มจากพวกฉ้อฉลนี้จะลักลอบขโมยข้อมูลในแถบแม่เหล็กของบัตรเอทีเอ็ม และรหัสประจำตัว โดยอาจใช้วิธีการซ่อนกล้องถ่ายภาพขนาดเล็กมากไว้บริเวณใกล้ ๆ ตู้เอทีเอ็ม หรือยืนข้างหลังผู้ที่กำลังใช้บริการจากเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อลักลอบจำข้อมูลรหัสต่าง ๆ ไปดัดแปลงทำบัตรใหม่แล้วย้อนรอยมาถอนเงินเกลี้ยงบัญชีภายหลัง

เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับเจ้าของบัตรเอทีเอ็ม และธนาคารก็เข้มงวดติดตั้งกล้องปิดบริเวณตู้เอทีเอ็ม รวมถึง “สมาคมธนาคารไทย” ได้ออกหนังสือเตือนเจ้าของบัตรเอทีเอ็ม เวลากดเอทีเอ็ม ให้ระมัดระวังตัวมากขึ้น หันซ้ายแลขวาให้ดีก่อนว่าไม่มีผู้ใดมายืนใกล้ ๆ บริเวณข้างหลังขณะทำรายการ และให้ใช้มือบังแป้นคีย์บอร์ดขณะที่กำลังกดรหัสด้วย

รวมทั้งเมื่อสอดบัตรเข้าเครื่องเอทีเอ็มแล้ว หน้าจอจะปรากฏข้อความแนะนำให้เพิ่ม ความระมัดระวัง และป้องกันการลักลอบขโมยข้อมูล เป็นเวลา 5 วินาที จากนั้นจึงทำรายการต่อได้ เพื่อเตือนให้ผู้ใช้บริการเพิ่มความระมัดระวัง ปัญหานี้จึงซาไปเล็กน้อย

แต่ผ่านไปอีกไม่นานนัก ปัญหาใหม่ก็โผล่ขึ้นมาอีก วิธีการถัดมาคือ การโทรศัพท์ไปแจ้งว่า ท่านถูกรางวัล และให้ไปตรวจว่าได้รับเงินที่โอนให้ทางบัญชีแล้วได้ทันทีตามตู้เอทีเอ็ม ซึ่งวายร้ายมักจะทิ้งช่วงเวลาไม่มากนัก ก็จะโทรฯกลับไปอีกครั้งว่า ไปตรวจสอบบัญชีหรือยัง หากยังก็จะทำน้ำเสียงตื่นเต้นและเร่งให้ไปเช็กดู ทำให้เจ้าของบัญชีเคลิ้มฝันจนต้องรีบรุดไปกดเอทีเอ็ม ตรวจเงินในบัญชี แต่เมื่อไม่พบเงิน วายร้ายก็จะทำน้ำเสียงสงสัยว่า ทำไมไม่มีเงิน อาจเกิดการ ผิดพลาด ให้ทำตามขั้นตอนใหม่ตามที่บอก ซึ่ง แน่นอนว่า ต้องทำเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น คนไทยมัวแต่ดีใจ กดไปกดมาตามเสียงปลายสาย กลับกลายเป็นว่า โอนเงินตัวเองให้วายร้ายเรียบร้อยแล้ว

แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือหน่วยงานต่าง ๆ


วิธีถัดมาก็คือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือหน่วยงานต่าง ๆ โทรศัพท์ไปหลอกลวงลูกค้าให้หลงเชื่อ สอบถามข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัญชีเงินฝาก หรือข้อมูลบัตรเครดิต หนักข้อขึ้นก็แจ้งว่า มีหนี้บัตรเครดิตค้างชำระอยู่ ให้รีบจ่าย ซึ่งหากลูกค้าไม่ได้เป็นหนี้ก็จะตกใจ มิจฉาชีพ ก็จะรุกต่อว่า ข้อมูลอาจผิดพลาด ขอให้แจ้งข้อมูลส่วนตัวใหม่อีกครั้ง เพื่อแก้ไขข้อมูล

ที่เด็ดกว่านั้นคือ มาในลีลา ข้อความจากระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ เช่น คุณมียอดค้างชำระบัตรเครดิต 30,000 บาท กรุณาไปชำระเงินภายในวันนี้ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม กด 9 ซึ่งคนที่ไม่มีหนี้ มีหรือจะไม่ตกใจ ยิ่งในยามชักหน้าไม่ถึงหลัง เมื่อกด 9 ก็จะมีบุคคลรับสายและซักถามข้อมูลบัตรเครดิตพร้อมทั้งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าผู้ถือบัตรรายนั้นทันที

เท่านี้ก็เสร็จโจร !! ซึ่งที่ผ่านมา ตรวจสอบแล้วพบว่า มิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ทุจริต 2 ประเภทคือ ขอหมายเลขบัตรเครดิตไปใช้ทำธุร กรรมทางอินเทอร์เน็ต และขอข้อมูลส่วนตัว เพื่อโทรฯไปยกเลิกบัตรกับธนาคารเองเลย แล้วก็สวมรอยออกบัตรใหม่ แต่เปลี่ยนแปลงที่อยู่สำหรับส่งบัตรทางไปรษณีย์ไปให้มิจฉาชีพ โดยที่เจ้าของบัตรตัวจริงไม่รู้ตัวว่าถูกทุจริตไปแล้ว

ไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปหาลูกค้าธนาคาร


“ธวัชชัย ยงกิตติกุล” เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า แม้สมาคมจะออกมาเตือนประชาชนทั่วไปอยู่ทุกระยะ ๆ ว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปหาลูกค้าธนาคาร เพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัว หรือให้ลูกค้าไปทำธุรกรรมที่เครื่องเอทีเอ็มแต่ประการใด จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวใด ๆ และอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวแก่ผู้ที่สอบถาม

“โชค ณ ระนอง” ประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เปิดเผยว่า รูปแบบของแก๊งมิจฉาชีพที่โทรศัพท์หลอกลวงข้อมูลส่วนตัวลูกค้า แล้วนำไปทำธุรกรรมทุจริตนั้นมีอยู่ตลอด แต่เมื่อจับได้รูปแบบหนึ่งแล้ว มิจฉาชีพเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงอีกวิธีการหนึ่ง ดังนั้น จึงเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง และตั้งสติให้มั่น หากว่ามีโทรศัพท์ที่ไม่ชอบมาพากลให้หยุดการสนทนาด้วย พร้อมทั้งติดต่อกับธนาคารโดยตรงทันที หรือหากให้ข้อมูลไปแล้ว ต้องรีบอายัดบัตรทันที แล้วทำบัตรใหม่ดีกว่า เพราะมิจฉาชีพก็คือมิจฉาชีพวันยังค่ำ เห็นว่าได้ของฟรีเขาก็ทำทุจริต ซึ่งไม่เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ดังนั้นเจ้าของบัตรต้องระมัดระวังตัว เพราะแม้บัตรจะติดชิพการ์ด ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการทุจริตประเภทนี้

ฉกเงินจากคนทั่วไป อาจได้ทีละน้อย ไม่เร้าใจเหมือนฉกเงินจากสถาบันการเงินโดยตรง จึงโผล่ไปทำเรื่องกู้ยืมเงินจากแทบทุกสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และนอนแบงก์ ในรูปแบบขอสินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ โดยใช้เอกสารปลอม เมื่อได้เงิน หรือรถแล้ว ก็จะหลบเข้ากลีบเมฆทันที กว่าผู้ประกอบการจะรู้ตัว ก็ล่วงเข้าเดือนที่ 3 ตามลีลามาตรฐานของทางการ และโดยเฉพาะเมื่อธนาคารไหนออกบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะรีบเข้ามาใช้บริการทันที เพราะเงื่อนไขการใช้บริการยังใหม่ พนักงานให้บริการก็ใหม่ ทำให้มีช่องว่างที่จะหาทางทุจริตได้ง่ายขึ้น

สารพัดแชร์ลูกโซ่


“แชร์ลูกโซ่” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้หากินแบบบ้าน ๆ ถ้าจำไม่ผิด แชร์ลูกโซ่เคยโด่งดังด้านสร้างความย่อยยับให้เศรษฐกิจไทยอย่างหนักในปี 27-29 มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแชร์แม่ชม้อย แชร์นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ แชร์เสมาฟ้าคราม แต่มาปี 50 นี้ แชร์ลูกโซ่ได้อัพเกรดขึ้นอีกโข ทั้งลีลาการลงทุนที่มีกระบวนการหลากหลาย จ่ายผลตอบแทนล่อใจสูง น่าเชื่อถือในแง่การลงทุน มีสัญญาในการเข้าร่วมธุรกิจ โดยอาศัยหลักการตอบแทนเหมือนกันเปี๊ยบกับ “ธุรกิจขายตรง” และพัฒนาไปสู่รูปแบบการขยายธุรกิจโดยอิงหลักการ” ธุรกิจแฟรนไชส์” “ธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์”

ที่เด็ดเห็นจะเป็น “ธุรกิจอี-มันนี่เกมส์” ที่ทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเปิดเว็บไซต์ให้คนทั่วไปเข้ามาร่วมลงทุนต่าง ๆ แล้วการันตีว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้ตามกำหนด ทั้งแบบรายวันที่ไปกดเงินถอนออกได้ทุกวัน และแบบเป็นงวด ๆ ตามแต่จะตกลงว่ากี่วันต่องวด แรก ๆ จะเห็นการหาเหยื่อจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว แต่หลัง ๆ เริ่มเบนเข็มเล็งไปยังกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บ มีเงินบำนาญ โดยชักชวนให้มาฝากเงินกับเว็บไซต์ จากนั้นก็ทยอยปิดหนีไป

ที่น่าตกใจคือ ปัจจุบันมีเว็บไซต์ลักษณะนี้ 400-500 รายแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าแค่ตรวจสอบก็แสนยากเย็นแล้ว จะให้ตามจับคงยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

แต่ก็ยังมีบ้าง ที่แชร์ลูกโซ่กลายเป็นทางออกฉุกเฉินในการหารายได้แบบง่าย ๆ ในยามเศรษฐกิจขัดสน เช่นนี้ จึงเห็นว่า แชร์ข้าวเปลือก เกิดแชร์ข้าวสาร ที่ให้สมาชิกซื้อหุ้นบริษัท โดยจะได้รับข้าวสารและสินค้าอุปโภคอื่น ๆ ไป แต่ถ้าฝากไว้จะได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงถึงเดือนละ 22% แชร์พวงมาลัย ที่ให้สมาชิกซื้อพวงมาลัยดอกไม้พลาสติกมาประกอบแล้วนำส่งพร้อมรับเงินปันผล แชร์ก๋วยเตี๋ยว ที่ให้สมาชิกซื้อร้านก๋วยเตี๋ยวไป แล้วจะได้เงินปันผลคืนภายหลัง ซึ่งสารพัดแชร์เหล่านี้ ในช่วง 2-3 เดือนแรก จะจ่ายปันผลคืนให้สมาชิก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนให้หนักขึ้น เมื่อได้เงินมากขึ้น ค่อยปิดบริษัทหนีในภายหลัง

ธุรกิจในเชิงแชร์ลูกโซ่


“วีรพงษ์ บุญโญภาส” ประธานคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง ระบุว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวเปิดโอกาสให้ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนต้องการมีรายได้เสริมในการเลี้ยงครอบครัวช่วงค่าครองชีพสูง ดังนั้น จึงได้ลงนามร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้แชร์ ลูกโซ่ลุกลามได้เร็ว เพราะหน่วยงานทั้งหมดจะประสานงานในการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิดได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันได้หารือกับ สคบ. เพื่อเปิดเว็บไซต์ หรือส่งเสริมรายการที่เกี่ยวกับการเตือนภัยตามสื่อ เพื่อให้ประชาชนได้รู้กลยุทธ์ของแชร์ลูกโซ่ ทั้งในรูปแบบจากนายทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่ผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังตกเป็นเหยื่อของธุรกิจแชร์ลูกโซ่เพราะไม่รู้กฎหมาย จึงถูกชักจูงได้ง่ายแม้จะมีตัวอย่างของผู้เสียหายให้เห็นหลายครั้งก็ตาม ดังนั้นจะเร่งประสานงานกับกรมประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้และกระจายข่าวไม่ให้ประชาชนถูกหลอกมากกว่านี้

“รัศมี วิศทเวทย์” เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีธุรกิจขายตรงหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในเชิงแชร์ลูกโซ่ รวมถึงธุรกิจการค้าเงินที่เปิดตามเว็บไซต์ ซึ่ง สคบ. และผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีต่อไป ขณะเดียวกันก็ได้ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กรมประชาสัมพันธ์ และวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ช่วยกันให้ความรู้กลยุทธ์ของบริษัทเหล่านี้ รวมถึงวิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชนด้วย

เงินด่วนเสาไฟฟ้า


ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เพิ่งตื่นตัวร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) กรุงเทพมหานคร กรมสรรพากร และสคบ. ลุยกวาดล้างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเงินด่วน เงินสด แก่ผู้ถือบัตรเครดิต บัตรผ่อนสินค้า ทั่วประเทศอย่างจริงจังในเดือน ธ.ค.นี้ โดยสำนักเทศกิจรับหน้าที่ตรวจสอบใบปลิวแปะประกาศเกี่ยวกับบริการเงินด่วนที่อยู่ตามเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ และพื้นที่สาธารณะอื่นทุกเขต หากพบจะดึงออกทันที หรือถ้าเจอใครยืนแจกใบปลิวแบบนี้อยู่ ก็จะดำเนินการเช่นกัน เท่านั้นไม่พอ จะนำข้อมูลส่งต่อให้ ธปท. และ ปศท. สาวไส้ไปถึงตัวการใหญ่ด้วย ซึ่งถ้ารู้ว่าตัวการใหญ่เป็นใครล่ะก็รับรองว่าทางการจะงัดกฎหมายทุกข้อมาเล่นงานแน่ ๆ มิหนำซ้ำกรมสรรพากรยังเตรียมตรวจสอบบัญชีด้วย ถ้าจ่ายภาษีไม่ครบก็จะเจอเก็บภาษีย้อนหลังอีกกระทง เรียกว่ากัดแบบไม่ปล่อยเลยทีเดียว

นอกจากนั้น สคบ. จะดำเนินการกับ สื่อและผู้ที่ลงประกาศบริการสินเชื่อเงินด่วน เงินสด ผิดกฎหมายด้วย เพราะปัจจุบันพบในนิตยสารกีฬา หรือหนังสือพิมพ์บางฉบับ ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 วรรค 3 ที่มีใจความว่า ห้ามโฆษณา หรือการใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และเกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวม โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน

“พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร” ผู้บังคับการ ปศท. กล่าวว่า สังคมขณะนี้มีการหลอกลวงมาก จึงอยากเตือนว่า ของฟรีไม่มีในโลก อย่าโลภ อะไรก็แล้วแต่มีผลตอบแทนสูง สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำลังจะถูกหลอกลวง และมีความเสี่ยงสูง หากใครได้รับโทรศัพท์ที่ระบุว่าถูกรางวัล และสันนิษฐานว่ากำลังโดนต้มอยู่ล่ะก็ ผบ. ท่านนี้บอกว่า ให้ติดต่อมายัง ปศท. ได้โดยตรง ที่ 0-2234-6806 ปศท. จะดำเนินการไปรับรางวัลให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

“วีระชาติ ศรีบุญมา” ผู้อำนวยการสายคดี แบงก์ชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเงินด่วน เงินสด ที่ผิดกฎหมายไปแล้ว 32 คดี แบ่งเป็นเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 คดี ภาคเหนือ 6 คดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 คดี และภาคใต้ 12 คดี โดยคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว 31 คดี นอกเหนือจากนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีอีก 3 คดี”

ยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็เหมือนเป็นวัคซีนป้องกันให้เรื่องเหล่านี้มีน้อย


ร้อยเล่ห์ล้านเหลี่ยมกลโกงเหล่านี้ มีมาตั้งแต่อดีตกาล และก็พัฒนากลยุทธ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการพัฒนาประเทศและเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็เหมือนเป็นวัคซีนป้องกันให้เรื่องเหล่านี้มีน้อย ต่างคนต่างทำมาหากินอย่างมีความสุข แต่ยามใดที่เศรษฐกิจย่ำแย่ก็เหมือนได้ยาดี ที่ไวรัสจะพ่นพิษ

เหล่านี้ล้วนเป็น “สิ่งบอกเหตุ” ให้รู้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยย่ำแย่แค่ไหน รัฐบาลพึ่งพาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า ยังไม่รู้อนาคตว่าจะฝากผีฝากไข้ไว้กับรัฐบาลใหม่ได้หรือไม่ ขณะที่หน่วยงานรัฐก็เป็นที่พึ่งพาไม่ได้ ทางเดียวที่จะป้องกันปัญหาได้เบ็ดเสร็จคือ ต้องมีสตางค์อย่างมีสติ รู้จักพอเพียงแล้วจึงจะเพียงพอ.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์