เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้คน 32 ศพที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ในสหรัฐ ด้วยฝีมือของมือปืนที่เป็นนักศึกษาซึ่งมีปัญหาทางจิต ได้รับเลือกให้เป็นสุดยอดข่าวเด่นแห่งปี 2007 โดยผู้อำนวยการและบรรณาธิการข่าวหลายร้อยคนของสหรัฐในการโหวตประจำปีของสำนักข่าวเอพี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพคร่าชีวิตของนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา
สรุป 10 ข่าวเด่นในรอบปี
เริ่มจากอันดับ 1 เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เวอร์จิเนีย เทค : นายโช ฮุย ซุง หนุ่มนักศึกษาจากเกาหลีใต้วัย 23 ปี ซึ่งไม่ยอมเข้ารักษาสุขภาพจิตตามคำสั่งของศาล แม้มีประวัติป่วยเป็นโรคจิตก็ตาม ได้ก่อเหตุสะเทือนขวัญชาวอเมริกันทั้งประเทศ เริ่มจากการฆาตกรรมเพื่อนนักศึกษา 2 คนในหอพักรวมเมื่อ 16 เม.ย. และส่งวิดีโอเทปกับจดหมายที่บ่งชี้ถึงความเกลียดชังของเขาไปยังสถานีโทรทัศน์ข่าวเอ็นบีซี จากนั้นไม่นานเขาได้ใช้อาวุธปืนไล่กราดยิงนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 30 ศพ ก่อนที่เขาปลิดชีพตัวเอง นับเป็นเหตุการณ์ฆ่าคนตายหมู่ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ
อันดับ 2 วิกฤติการจำนอง : กรณีการยึดทรัพย์สินที่จำนองไว้เป็นประวัติการณ์ในสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน และตลาดที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุให้ธนาคารและบริษัทการลงทุนชั้นนำต่าง ๆ ประสบภาวะขาดทุนมหาศาล ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐไปแล้ว
อันดับ 3 สงครามอิรัก : ความรุนแรงที่นับวันทวีความดุเดือดมากขึ้นในอิรัก ทำให้สหรัฐตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าเสริม ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงทั้งหมดได้เป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้น ประชาชนชาวอิรักนับพันและทหารอเมริกันหลายร้อยนาย ต้องมาสังเวยชีวิต ขณะที่บรรดาแกนนำทางการเมืองในอิรักพยายามดิ้นรนเพื่อผลักดันไปสู่การปรองดองแห่งชาติ
อันดับ 4 ราคาน้ำมัน : ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เกือบแตะระดับที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยการที่ราคาน้ำมันแพงมหาโหด ซึ่งได้สร้างภาระให้ผู้ขับขี่ยวดยานและเจ้าของบ้านที่ใช้น้ำมันในเครื่องทำความร้อน กระตุ้นให้สภาคองเกรสสหรัฐผ่านร่างกฎหมายพลังงานเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค
อันดับ 5 ส่งออกจีน : ภาคการส่งออกของจีนเผชิญปัญหาทางการค้า เนื่องจากสินค้าเมดอินไชน่าถูกเรียกคืนเป็นจำนวนมากตั้งแต่ของเล่นไปจนถึงยาสีฟันและอาหารที่ปนเปื้อน ถึงแม้สินค้าจีนประสบปัญหาอย่างรุนแรง แต่อเมริกายังคงขาดดุลการค้าต่อจีนเป็นจำนวนสูงเหมือนเดิม
อันดับ 6 ภาวะโลกร้อน : คำเตือนเกี่ยวกับผลที่จะตามมาจากการที่โลกร้อนขึ้นด้วยรายงานจากคณะกรรมการทางวิทยาศาสตร์และนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ ที่รณรงค์ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งภาพยนตร์เชิงสารคดีของเขาเรื่อง An Inconvenient Truth ที่ฉายไปทั่วโลก ส่งผลให้รัฐบาลต่าง ๆ กำลัง พยายามหาทางควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน
อันดับ 7 สะพานพัง : สะพานเชื่อมระหว่างรัฐหมายเลข 35 ข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีในรัฐมินเนอาโพลิสของสหรัฐ พังถล่มลงมา ช่วงระหว่างชั่วโมงเร่งด่วนในตอนเย็นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. คร่าชีวิตผู้คน 13 ศพ บาดเจ็บประมาณ 100 ราย อุบัติเหตุครั้งนี้ กระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างของสะพานข้ามแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศที่อาจมีข้อบกพร่องเช่นกัน
อันดับ 8 การรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ : เริ่มศักราชแห่งการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจะมีการลงคะแนนในแบบคอคัสและไพรมารี ที่จะตัดสินว่า ผู้ใดจะได้เป็นตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐในปี 2008 โดยนางฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 กับนายบารัก โอบามา เป็น 2 ผู้มีคะแนนนิยมนำลิ่วในกลุ่มผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ขณะที่ 5 ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ยังมีคะแนนนิยมสูสีกันอยู่
อันดับ 9 การอภิปรายเรื่องคนเข้าเมือง : กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองไปแล้ว สำหรับแผนการประนีประนอมเกี่ยวกับการอพยพเข้าเมือง ที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบรรดาผู้นำพรรคเดโมแครต แต่ต้องมาจบเห่ในสภาคองเกรส เนื่องจากถูก รีพรรครีพับลิกันคัดค้าน หากแผนการนี้ผ่านการรับรองจากสภา จะทำให้ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหลายล้านคน ฟอกตัวกลายเป็นพลเมืองของสหรัฐอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงตามแนวพรมแดนด้วย ซึ่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียงในการเลือกตั้งสหรัฐอีกเช่นกัน
อันดับ 10 โครงการนิวเคลียร์อิหร่าน : ด้วยความวิตกกังวลต่ออาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน ทำให้สหรัฐและประเทศพันธมิตรเดินหน้ากดดันอิหร่านให้หยุดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐอิสลามปฏิเสธไม่ได้ซุกซ่อนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ สอดคล้องกับรายงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ ที่ได้ข้อสรุปมาว่า อิหร่านเคยพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่โครงการนี้ยุติลงไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2546
นอกจากนี้ ยังมีข่าวเด่นอื่น ๆ ที่น่าสนใจในรอบปี แต่ไม่ได้ติดอันดับท็อปเทน อาทิ เหตุการณ์ไฟป่าในทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐของนายอัลเบอร์โต กอนซาเลซ เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายของแอนนา นิโคล สมิธ ดาราและนางแบบนิตยสารปลุกใจเสือป่าเพลย์บอย ยังได้รับการโหวตให้มีคะแนนเหนือเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของนายโทนี แบลร์ ตลอดจนการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า
นอกจากนั้นในช่วงรอบปี 2007 โลกเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างหนักหน่วงทั้งอุทกภัย, ไฟไหม้และพายุเฮอริเคน แต่เหตุการณ์รุนแรงที่สุด ซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากได้แก่ เหตุการณ์เมื่อเดือนพ.ย. พายุไซโคลน ซัดถล่มบังกลาเทศอย่างหนัก คร่าชีวิตผู้คนราว 3,300 ศพ และไร้ที่อยู่อาศัยหลายพัน ทางการต้องระดมกำลังเข้าช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วน แต่ต้องเผชิญอุปสรรค เนื่องจากถนนหนทางมีน้ำท่วมและต้นไม้จำนวนมากหักโค่นกีดขวางเส้นทาง
นอกจากนี้ ฤดูมรสุมที่พัดกระหน่ำเอเชียใต้ระหว่างเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,200 ศพ และอีก 25 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย โดยพายุฝนและหิมะที่ตกหนัก เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมในเนปาล, อินเดียและบังกลาเทศ สร้างความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าประมาณการได้ว่า เกือบหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประชาชนเผชิญภาวะอดอยาก และโรคภัยต่าง ๆ ที่มากับน้ำ
แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริคเตอร์ในเปรู เมื่อเดือน ส.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 540 ศพ ประชาชนบาดเจ็บกว่า 1,000 คน และอีก กว่า 176,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย ขณะที่บ้านเรือน 35,000 หลังถูกทำลาย สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ในปิสโก เมืองท่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลิมา พังยับเยินถึงร้อยละ 85
เหตุการณ์น้ำท่วมเหมืองในด้านตะวันออกของจีน คนงานเหมือง 172 คนสังเวยชีวิต ภายหลังฝนตกหนัก เป็นเหตุให้ระดับน้ำในแม่น้ำบริเวณใกล้เคียงเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมเหมืองถ่านหินใกล้เมืองซินไถ่เมื่อ 18 ส.ค. และที่ไซบีเรีย มีแก๊สระเบิดในเหมืองถ่านหินอูลยานอฟสกายา เมื่อ 19 มี.ค. คร่าชีวิตผู้คน 110 ศพ นับเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเหมืองครั้งเลวร้ายที่สุดของรัสเซีย ตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต จากนั้นเมื่อ 18 พ.ย. เกิดเหตุเหมืองถ่านหินระเบิดในยูเครน มีคนงานเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ศพ และวันที่ 5 ธ.ค. มีเหตุระเบิดที่เหมืองใต้ดินของจีน มีผู้เสียชีวิต 100 ศพ
ขณะที่คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมแผ่นดินยุโรปเมื่อเดือนก.ค. ประชาชนนับร้อยเสียชีวิต โดยเฉพาะที่ฮังการีชาติเดียว มีผู้ตกเป็นเหยื่อคลื่นความร้อน 500 ศพ นอกจากนั้น ผู้เสียชีวิตยังเกิดขึ้นทั่วตอนใต้ของยุโรป รวมทั้งในโรมาเนีย, บัลแกเรีย, กรีซและโครเอเชีย เช่นเดียวกับภาคใต้ของอิตาลี ไฟป่าย่างสด 2 ศพคารถยนต์ และขาดอากาศหายใจอีก 2 ศพ
ช่วงปีใหม่ของปีนี้ เกิดอุบัติภัยทางอากาศ เมื่อเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ของสายการบินอดัม แอร์ ในอินโดนีเซียพร้อมผู้โดยสาร 102 คนประสบเหตุตกในทะเล จากนั้นในเดือน ก.ค. เครื่องบินแอร์บัส 320 ของสายการบินแทม แอร์ไลนส์ ประสบเหตุตกในนครเซาเปาโลของบราซิล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 199 ศพ และเดือน ก.ย. เครื่องบินโดยสารแมคดอน เนลล์ ดักลาส เอ็มดี-82 ของสายการบินวันทูโก ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ระหว่างร่อนลงจอดที่จังหวัดภูเก็ต มีผู้เสียชีวิต 90 ศพ จากผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 130 คน
เหตุการณ์ไฟป่าที่คาบสมุทรเพโลพอนนีส ทางใต้ของกรีซ ที่กินเวลานานถึง 12 วัน ระหว่างวันที่ 24 ส.ค.-3 ก.ย. คร่าชีวิตประชาชนไม่น้อยกว่า 67 ศพ บ้านเรือน 800 หลังถูกทำลาย และอีก 500 หลังเสียหาย เพลิงยังเผาป่าไม้และพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร รวมทั้งไร่มะกอก พืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นกว่า 1.25 ล้านไร่
พายุเฮอริเคนดีน พัดถล่มเม็กซิโก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 ศพเมื่อเดือน ส.ค. หลังจากพาดผ่านแคริบเบียน และในช่วงต้นเดือน ก.ย. พายุเฮอริเคนเฟลิกซ์ ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไม่น้อยกว่า 100 ศพในนิการากัวและฮอนดูรัส ยังก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มอีกด้วย
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำฮัวของเวียดนามที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมาเมื่อเดือน ก.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 54 ศพ บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และในเดือน ก.ค. ขณะที่เดือน ส.ค. คนงานไม่น้อยกว่า 64 รายเสียชีวิต เพราะสะพานข้ามแม่น้ำในตอนกลางของจีนพัง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ
ปิดท้ายที่ชาวแอฟริกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพจำนวน 64 คน รวมทั้งเด็ก 3 คน จมน้ำตายในอ่าวเอเดน ระหว่างการเดินทางที่เสี่ยงอันตรายจากโซมาเลียมายังเยเมนในเดือน พ.ย. นอกจากนั้น ในปลายเดือนก.ค. ผู้อพยพชาวแอฟริกัน 50 คน ต้องมาจบชีวิตหลังจากเรือล่ม ท่ามกลางทะเลที่มีคลื่นและลมรุนแรงในมหาสมุทรแอตแลนติก ขณะพยายามเข้าฝั่งที่หมู่เกาะคานารีของสเปน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้อพยพ 1,000 ราย ที่ต้องเอาชีวิตมาทิ้งในท้องทะเล จากความพยายามที่จะเข้าสู่แผ่นดินยุโรปในปีนี้.