นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 51 โดยสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ 1,214 คน ระหว่างวันที่ 24-25 ธ.ค. 50 ว่า คาดว่าจะมีเงินสะพัด 73,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เทียบกับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 50 ที่มีเงินสะพัด 69,493 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน ๆ จะเพิ่มขึ้นเลข 2 หลัก แม้จะผ่านช่วงเลือกตั้ง ซึ่งบรรยากาศการเมืองคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ที่คาดว่าจะขยายตัว 4-5% รวมทั้งยังได้รับ ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้ไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมาก
“การใช้จ่ายปีนี้ถือว่าไม่คึกคัก เพราะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 6.4% จากช่วงปกติการใช้จ่ายช่วงปีใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก เพราะประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่ายจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเงินที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนี้ไม่ใช่เพราะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ปริมาณการซื้อยังใกล้เคียงปีที่แล้ว ที่สำคัญมีการนำเงินออมออกมาใช้จ่าย ถือเป็นสถานการณ์น่าห่วงและต้องระมัดระวัง ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก”
คนไทยควักเงินออมมาใช้ปีใหม่ สะพัด7.39หมื่นล.
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า
การใช้จ่ายของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่มีเม็ดเงิน 73,940 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ 34,621 ล้านบาท และการใช้จ่ายของประชาชนในต่างจังหวัดประมาณ 39,319 ล้านบาท โดยประชาชนที่มีแผนอยู่บ้านจะใช้จ่ายเพื่อการทำบุญมากสุด 7,898 ล้านบาท รองลงมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 7,558 ล้านบาท เลี้ยงสังสรรค์ 6,371 ล้านบาท และซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1,941 ล้านบาท ส่วนประชาชนที่เดินทางไปท่องเที่ยวพบว่าจะใช้จ่ายจากการเดินทางไปเที่ยวในประเทศมูลค่ามากสุด 34,295 ล้านบาท และใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ 14,929 ล้านบาท
ขณะที่ การวางแผนเดินทางไปท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่
พบว่าส่วนใหญ่จะเดินทางออกนอกพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2550 กลับวันที่ 1 ม.ค. 2551 เฉลี่ยการเดินทางไปต่างจังหวัดประมาณ 4 วัน โดยไปเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 4-5 คนต่อกลุ่ม และเดินทางโดยรถส่วนตัว รถทัวร์ รถตู้ และรถไฟตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่จะมีผู้เดินทางไปท่องเที่ยวมากสุดอันดับหนึ่ง คือ ชลบุรี เชียงใหม่ รองลงมานครราชสีมา กรุงเทพฯ อยุธยา เลย สระบุรี ระยอง เชียงราย และสุราษฎร์ธานี
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
กล่าวถึงการสอบถามถึงทรรศนะประชาชนก่อนและหลังการเลือกตั้งว่า ช่วงก่อนเลือกตั้งประชาชนเห็นว่าเสถียรภาพการเมืองปี 51 จะดีขึ้น 5.6% ไม่เปลี่ยนแปลง 38.6% แย่ลง 38.7% และไม่แน่ใจ 17.1% ขณะที่การสำรวจหลังเลือกตั้งประชาชนเห็นว่าเสถียรภาพการเมืองปี 51 จะดีขึ้น 34.6% ไม่เปลี่ยนแปลง 39.8% แย่ลง 9% และไม่แน่ใจ 16.6% ซึ่งความเห็นนี้สะท้อนว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นทางการเมืองมากขึ้น.