นศ.มธ.-นิสิตจุฬาฯ คว้ารางวัลชมเชย ผ.อ.กำพลวัชรพล

ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคาร 9 ชั้น สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อบ่ายวันที่ 27 ธ.ค. 

เป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของนายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โอกาสนี้ได้มีพิธีมอบรางวัล “กำพล วัชรพล” ประจำปี 2550 โดยมี คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ประธานมูลนิธิไทยรัฐ เป็นประธานพิธีมอบรางวัลดังกล่าว พร้อมด้วยนางยิ่งลักษณ์ วัชรพล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นายสราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบรรณาธิการ ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลแก่โรงเรียนไทยรัฐ-วิทยา ผู้บริหารและครูดีเด่น
 

นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานกรรมการพิจารณาให้รางวัล “กำพล วัชรพล” กล่าวว่า

ในปีนี้คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า วิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ที่ส่งเข้าประกวด ยังขาดความสมบูรณ์และความลึกซึ้งในแง่ประเด็นปัญหาวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย ที่จะนำไปสู่การอ้างอิง จึงเห็นว่ายังไม่มีวิทยานิพนธ์เล่มใด เข้าข่ายสมควรได้รับรางวัลดีเด่นในปีนี้ แต่มีวิทยานิพนธ์ที่เข้าข่ายควรได้รับการชมเชย 2 เรื่อง คือ “ผลกระทบของการนำเสนอข่าวข่มขืน ในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวันที่มีต่อผู้ข่มขืน ผู้ถูกข่มขืน และผู้อ่านที่สะท้อนจริยธรรมของหนังสือพิมพ์” ของนายวัชระ จิรฐิติกาลกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรื่อง “โครงสร้าง ระบบ และไวทยากรณ์ ของหนังสือพิมพ์” ของนายธาม เชื้อสถาปนศิริ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

นายวัชระ จิรฐิติกาลกิจ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันหนังสือไทยรายวันมีการรายงานข่าวข่มขืน ที่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลและละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกข่มขืน

โดยเฉพาะเหยื่อที่เสียชีวิตแล้ว ชื่อนามสกุล และใบหน้า จะถูกเปิดเผยและตีพิมพ์ ทางออกของเรื่องนี้คือ หนังสือพิมพ์จะต้องปกปิดชื่อ ทั้งผู้ข่มขืนและผู้ถูกข่มขืน ซึ่งหนังสือพิมพ์สามารถทำได้ และเป็นจรรยาบรรณที่สภาการหนังสือพิมพ์ประกาศไว้ สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับ 100,000 บาท นั้น จะใช้เป็นทุนสำหรับศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก
 


ด้านนายธาม เชื้อสถาปนศิริ กล่าวว่า ตนศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้หนังสือพิมพ์สามารถอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้

แม้จะมีสื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามาแล้วก็ตาม ขณะที่คนก็เปลี่ยนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ แต่หนังสือพิมพ์ ก็จะยังอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์อยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้คือ การที่หนังสือพิมพ์เสนอความจริง ซึ่งคนทุกยุคทุกสมัยต้องการที่จะรู้ความจริง หากหนังสือพิมพ์ไม่เสนอความจริง ก็อยู่ไม่ได้ และปัจจัยที่จะทำให้หนังสือพิมพ์สามารถนำเสนอความจริงได้ก็คือ นักข่าว หรือนักหนังสือพิมพ์ทุกคนที่จะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ และสิ่งที่พบอีกประการคือ ข่าวที่นำเสนอโดยหนังสือพิมพ์ได้รับความน่าเชื่อถือ มากกว่าข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งมีทั้งภาพและเสียงประกอบ เนื่องจากโทรทัศน์มักจะอ้างอิงข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านข่าวให้ผู้ชมฟัง ดังนั้นหากข่าวหนังสือพิมพ์บิดพลิ้ว ไม่ตรงความจริง ข่าวที่ได้รับจากโทรทัศน์และวิทยุ ก็คลาดเคลื่อนไปด้วย สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับจะนำเป็นทุนศึกษาต่อปริญญาเอก และจะต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ หวังที่จะนำผลวิจัยระดับปริญญาเอกมาส่งประกวดวิทยานิพนธ์รางวัล “กำพล วัชรพล” อีกครั้ง
  

หลังจากเสร็จพิธีมอบรางวัล ได้มีปาฐกถาพิเศษ โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เรื่อง “การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทย” นายไพบูลย์กล่าวปาฐกถาความโดยสรุป ว่า การเสริมสร้างคุณธรรมสำหรับสังคมไทยนั้น อยากจะเสนอแนวคิดบันไดวน 4 ขั้น เพื่อสร้างเสริมคุณธรรมความดีอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่สภาพทางสังคมที่ดีขึ้นตามลำดับ ต้องเข้าใจว่า คุณธรรม คือความดี เป็นสิ่งที่ดีในตัวเรา ทำแล้วส่งให้เกิดผลถูกต้องดีงาม ถ้าสังคมมีความดีมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้รากฐานของสังคมแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสามารถทำได้
 

นายไพบูลย์กล่าวว่า บันไดทั้ง 4 ขั้น คือ บันไดขั้นแรก ชื่นชมความดี ด้วยการช่วยกันค้นหาและส่งเสริมความดี

ถ้าพยายามมองหาความดีในตัวของเรา และรอบตัว จะพบว่ามีความดีมากมายในสังคมนี้ เพราะถ้าไม่มีความดีเลย ตัวของเราคงย่อยยับไปนานแล้ว แต่ก็น่าแปลกใจที่สังคมบ้านเราพยายามทำในสิ่งตรงกันข้าม คือพยายามค้นหาแต่ความเลวของกันและกัน ไม่มีใครสนใจมองหาความดี ทำให้ครอบครัวไม่มีความสุข สังคมก็ไม่มีความสุข การค้นหาและส่งเสริมความดีนั้น เป็นศาสตร์และศิลป์ คือ เมื่อค้นพบผู้ที่ทำความดีและช่วยกันชื่นชม ให้เกียรติ พร้อมทั้งส่งเสริม ก็จะเกิดพลังมหาศาล ให้คนตั้งใจทำความดีกันมากขึ้น
 

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า บันไดขั้นที่ 2 คือการเรียนรู้ด้วยการนำไปปฏิบัติ และการสื่อสารความดี ที่เป็นบันไดขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ

สื่อช่วยกันหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี และสื่อสารเรื่องราวความดีที่มีอยู่ในสังคมให้แพร่กระจายออกไป ก็จะทำให้สังคมเกิดบรรยากาศแห่งการทำความดี ไม่ต้องกลัวว่า เรื่องดีจะขายไม่ได้ ดูอย่างที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในไต้หวัน ทั้งสถานีมีแต่รายการส่งเสริมให้คนทำความดี แต่ก็ สามารถอยู่รอดไม่ขาดทุน ได้รับเรตติ้งสูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ถ้าเราช่วยกันตรงนี้ การก้าวไปสู่บันไดขั้นที่ 4 หรือการขับเคลื่อนความดี ก็จะงอกเงยเกิดขึ้นเป็นพลัง สร้างสังคมที่ดีมีความสุขขึ้นมา แต่ถ้าหากพวกเราไม่สนใจที่เรียนรู้และเสริมสร้างความดี จ้องแต่จะจับผิดค้นหาความเลวกันและกัน จะทำให้เกิดพฤติกรรมประชด เรียกร้องความสนใจไม่จบสิ้น และสังคมไทยก็จะไม่มีความสุข


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์