ททท.ฉาวข้ามโลก สินบน60ล. จุฑามาศโวยป้ายสี

เอฟบีไอจับ 2 ผัวเมียชาวมะกันหลังมีข้อมูลจ่ายสินบนให้อดีตบิ๊กททท.เป็นเงินกว่า 60 ล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิ์จัดงาน "บางกอก ฟิล์ม เฟสติวัล" ตั้งแต่ปี"46-50

สื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ของอเมริกาประโคมข่าวกระหึ่ม ก.ยุติธรรมสหรัฐ-เอฟบีไอจับกุม 2 ผัวเมียมะกันเปิดบริษัทขึ้นมาบังหน้า จ่ายสินบนใต้โต๊ะให้อดีตบิ๊ก ททท. ระบุโอนเงินเข้าบัญชีลูกสาวและเพื่อนสนิทผ่านธนาคารในอังกฤษ สิงคโปร์ และหมู่เกาะเจอร์ซี่ทั้งหมด 41 ครั้งเป็นเงิน 60 ล้าน แลกกับรายได้กว่า 350 ล้านจากการจัดงาน 5 ปี "จุฑามาศ ศิริวรรณ" อดีตผู้ว่าฯ ททท.ในสมัยนั้นโต้ลั่นไม่เกี่ยวข้อง ยันทำทุกอย่างโปร่งใส เช็กไปที่บริษัทต้นตอแล้วระบุเป็นเรื่องขัดแย้งภายในเพราะไล่พนักงานออก ลั่นหากเอฟ บีไอกล่าวหาว่ามีส่วนก็จะยื่นฟ้องกลับทันที ตกเย็นจุฑามาศประกาศลาออกจากรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ปชป.ได้ทีขย่มซ้ำชี้เป็นเหตุฉาวที่เกิดขึ้นในรัฐบาลแม้ว ป.ป.ช.ประสานขอข้อมูลสอบซ้ำ รมว. ท่องเที่ยวและกีฬาก็ตั้งกก.สอบสวนให้ชัดภายใน 60 วัน เผยเอฟบีไอเคยขอข้อมูลเมื่อปี"46-47 ก่อนเงียบหายไปกระทั่งมาจับกุม 2 ฝรั่งผัวเมีย

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. สำนักข่าวเอเอฟพี ยูเอส นิวส์ไวร์ และนิตยสารวาไรตี้ สื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่า

เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและตำรวจสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) จับกุมตัวนายเจอรัลด์ กรีน วัย 75 ปี และนางแพทริเซีย กรีน ภรรยาวัย 52 ปี ผู้บริหารบริษัท ฟิล์ม เฟสติวัล แมเนจเมนต์ นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ภายหลังจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดี ร่วมกันติดสินบนผู้บริหารระดับสูงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระหว่างปี 2546-2550 เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ "บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟสติวัล" (บีเคเคไอเอฟเอฟ) คิดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1.7 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 60 ล้านบาท

จากการสืบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (ดีโอเจ) และเอฟบีไอ พบว่า

นายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย ก่อตั้งบริษัทฟิล์ม เฟสติวัล แมเนจเมนต์ ในปี 2546 เพื่อรองรับงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ และเข้าไปประมูลติดต่อขอจัดงานดังกล่าวกับทางททท.จนชนะได้รับสัญญาว่าจ้างจัดงานและได้รับสิทธิ์ดูแลผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับททท. อีกหลายรายการ อาทิ โครงการบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างทำปฏิทินและหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทย


ล่าสุดนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย ถูกเอฟบีไอควบคุมตัวเอาไว้ และจะต้องขึ้นศาลลอสแองเจลิสเพื่อสู้คดี

ถ้าผลการตัดสินออกมาว่าทั้งคู่ผิดจริง ต้องรับโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปี ฐานละเมิดกฎหมาย "เอฟซีพีเอ" ซึ่งตราขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทหรือธุรกิจสัญชาติอเมริกันเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในต่างประเทศ สำหรับวิธีจ่ายสินบน ข้อมูลจากดีโอเจระบุว่า ฝ่ายนายเจอรัลด์จะตั้งบริษัทปลอมๆ ขึ้นมาบังหน้า เพื่อปกปิดความผิดและใช้เป็นตัวกลางโอนเงินไปให้ลูกสาวของผู้บริหารระดับสูงททท.คนดังกล่าว รวมถึงผู้ร่วมขบวนการ โดยในส่วนของลูกสาวผู้บริหารททท. พบว่ากลุ่มผู้ต้องหาเคยโอนเงินเข้าไปให้ผ่านบัญชีธนาคารในอังกฤษ สิงคโปร์ และหมู่เกาะเจอร์ซี่ทั้งหมด 41 ครั้ง และหลังจากผู้บริหารททท.พ้นจากตำแหน่งในปี 2549 ทางททท. ก็ได้เลิกสัญญาว่าจ้างบริษัทฟิล์ม เฟสติวัล แมเนจเมนต์
ทั้งนี้ ยังพบด้วยว่า ผลจากการจ่ายสินบน 60 ล้าน ส่งผลให้บริษัทฟิล์ม เฟสติวัล แมเนจเมนต์ ทำเงินตอบแทนกลับมาจากการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 350 ล้านบาท

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงข่าวสินบนททท.ว่า

ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ช. รวบ รวมข้อมูลแล้ว เบื้องต้นหากข้อมูลยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องประสานหน่วยงานใดในต่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจนที่สุด จากนั้นขั้นตอนต่อมาคือนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าเป็นลักษณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบได้หรือไม่ โดยต้องเป็นเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ในช่วงที่พ้นจากตำแหน่งไปไม่เกิน 2 ปี และป.ป.ช.สามารถตั้งเรื่องสอบเอง หรือจะมีผู้ร้องก็ได้ ซึ่งกรณีเรียกรับเงินเพื่อเอื้อประโยชน์ถือว่าอยู่ในอำนาจป.ป.ช.

ที่กระทรวงยุติธรรม นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า

เมื่อมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำการทุจริตจ่ายเงินสินบนในสหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศไทยจึงอยู่นิ่งไม่ได้ จะต้องสืบสวน สอบสวนขยายผลเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของไทยที่รับเงินสินบนให้ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อเท็จจริงเบื้องต้นระบุว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเงินสินบน เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ป.ป.ช.จึงไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ โดยสามารถตั้งต้นดำเนินคดีได้เอง จากนั้นป.ป.ช.อาจมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุด ประสานข้อสำนวนการสอบสวนจากกระทรวงยุติธรรม ประเทศสหรัฐ และอาจร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสืบสวนสอบสวนกับป.ป.ช.ได้

"ในส่วนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็พร้อมจะเข้าตรวจสอบธุรกรรมการเงินของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่จะต้องรอให้ป.ป.ช.เริ่มต้นคดีก่อน หากปปง.เข้าตรวจสอบก่อนอาจถูกมองว่าใช้อำนาจกลั่นแกล้ง"
นายจรัญ กล่าว

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า
 
ล่าสุดนางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าฯ ททท. ได้ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของททท. และฝ่ายยุติธรรม หาข้อเท็จจริงและรายละเอียด หากกระทรวงการต่างประเทศได้รับจากทางการสหรัฐก็จะมอบให้ททท. นำไปใช้ประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์