แฉรางปลั๊กไฟห่วย จาก18ยี่ห้อ-ดีแค่ 5

อจ.วิศวะ จุฬาฯ แฉรางปลั๊กไฟไร้คุณภาพ เสี่ยงไฟชอร์ต ไฟไหม้บ้าน

เผยเก็บตัวอย่างจากห้างดัง 18 ยี่ห้อ ทดสอบคุณภาพ พบทุกยี่ห้อสุดห่วยโกงความยาวสายไฟ ผ่านมาตร ฐานเพียง 5 ยี่ห้อ ส่วนเรื่องความปลอดภัยมีผ่านมาตรฐานแค่ยี่ห้อเดียว แนะวิธีเลือกซื้อ วัสดุที่ใช้ต้องเป็นพลาสติก "เอวีซี" เนื้อพลาสติกจะเนียนกว่า "พีวีซี" รวมทั้งควรมีสวิตช์ปิด-เปิด-ฟิวส์ช่วยตัดไฟ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายวีรพันธ์ รังสีวิจิตรประภา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กล่าวถึงผลการทดสอบรางปลั๊กไฟ "เสียบไม่เสียว : รางปลั๊กไฟยี่ห้อไหนปลอดภัยต่อบ้านคุณ" ว่า เมื่อเดือนก.ย.วารสารฉลาดซื้อ จัดซื้อรางปลั๊กไฟจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั่วกทม.จำนวน 18 ชิ้น ขนาด 3-6 เต้ารับ ราคาตั้งแต่ 59-660 บาท และส่งให้สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยทดสอบคุณภาพพบว่ารางปลั๊กไฟทุกยี่ห้อไม่ได้มาตรฐานเรื่องความยาวสายไฟตรงตามที่ระบุไว้ที่ฉลากเลย เฉลี่ยความยาวที่หายไปอย่างต่ำ 10 ซ.ม.ขึ้นไป และตัวอย่างส่วนใหญ่มักจะไม่ผ่านมาตรฐานด้านความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ในที่สุด โดยมีตัวอย่างผ่านมาตรฐานเพียง 5 ยี่ห้อเท่านั้น ที่น่าตกใจที่สุดคือมีเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย 4 ด้าน ทั้งความต้านทานของฉนวนและแรงดันไฟฟ้า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น

นายวีรพันธ์ กล่าวว่า มาตรฐานที่ทดสอบเน้นมาตรฐานหลัก 5 ด้าน

คือ 1.ความต้านทานของฉนวนและแรงดันไฟฟ้า คือป้องกันการเกิดไฟดูด 2.อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เต้ารับจะต้องไม่ร้อนมาก 3.แรงที่ใช้ในการดึงเต้าเสียบ เต้ารับไม่หลวม หรือแน่นเกินไป 4.ความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ หากปลั๊กไฟเกิดไฟลุกไหม้ไฟจะดับได้ด้วยตัวเองภายในเวลา 30 นาที จึงถือว่าได้มาตรฐาน และ 5.ความยาวของสายไฟ ต้องตรงตามที่ระบุในฉลาก


นายวีรพันธ์กล่าวว่า วิธีการเลือกซื้อรางปลั๊กไฟที่มีความปลอดภัย ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุได้มาตรฐาน เป็นพลาสติกเอวีซี

เพราะมีความคงทนต่อความร้อนดีกว่าพลาสติกพีวีซี สังเกตได้จากเนื้อพลาสติกจะเนียนกว่า รางปลั๊กไฟควรมีสวิตช์ปิด-เปิด และมีฟิวส์ ช่วยในการตัดกระแสไฟหากมีการใช้ไฟเกินกว่าที่รางปลั๊กไฟกำหนด หรือเลือกสินค้าที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

"การใช้รางปลั๊กไฟที่ถูกต้อง ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าจนเต็มราง เพราะอาจทำให้เกิดการใช้กระแสไฟฟ้าเกินกำหนดคือ 10 แอมป์ ทำให้ไฟชอร์ตได้ และไม่ควรเสียบปลั๊กไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้ไฟตลอดเวลา เช่น ตู้เย็น เป็นต้น แต่ควรจะเสียบปลั๊กไฟแบบถาวรที่ติดกับผนังแทนเพราะรองรับกระแสไฟได้ถึง 16 แอมป์ นอกจากนี้ ทุกบ้านควรต่อสายดินป้องกันกรณีเกิดไฟฟ้ารั่วจะได้ไม่มีการชอร์ตหรือดูดคนในบ้าน" นายวีรพันธ์กล่าว

ด้านนายสมคิด แสงนิล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า

ปัจจุบันมีมาตรฐานควบคุมความปลอดภัยของรางปลั๊กไฟมีเพียงมาตรฐานเดียวคือ มาตรฐานไฟฟ้า (มอก.11-2531) ขณะที่ผู้บริโภคเมื่อเห็นตรามอก.ก็เข้าใจผิดคิดว่าได้มาตรฐานแล้ว ทั้งที่ส่วนฉนวนหุ้มรางปลั๊กไฟ ยังไม่มีมาตรฐานบังคับแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญเพราะหากผลิตจากวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานจะทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายควบคุมขั้นตอนการผลิต และวัสดุที่นำมาผลิตรางปลั๊กไฟที่มีคุณภาพจะมีมาตรฐานบังคับใช้ในวันที่ 3 มี.ค.51เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ ผู้บริโภคจะต้องระมัดระวังเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์