ความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.
นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัว ว่า ภายหลังหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่ามีมูลเข้าข่ายความผิดคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษมีภาระหน้าที่เข้าไปร่วมดูแล และดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องขออนุมัติบอร์ดคดีพิเศษ ทั้งนี้ ดีเอสไอและ สคบ. จะร่วมกันเปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษจากประชาชนที่เสียหายจากการจองหรือเช่าที่ สคบ. และสำนักคดีอาญาพิเศษของดีเอสไอ รวมทั้งประสานธนาคารและไปรษณีย์ที่เป็นช่องทางรับจองพระ พิจารณาเรื่องคืนเงินประชาชนที่บอกเลิกสัญญาจองพระดังกล่าวเป็นอันดับแรก
นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า
ได้พิจารณาพยานหลักฐาน ข้อกฎหมายเบื้องต้น พบว่าเรื่องนี้เป็นความผิดฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นความผิดตามมูลฐานกฎหมายฟอกเงิน ดีเอสไอสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ เพราะความผิดว่าด้วยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค อยู่ในอำนาจดีเอสไอตาม พ.ร.บ.คดีพิเศษ โดย มาตรา 47 บัญญัติว่า ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจ ผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ โฆษณาหรือใช้ฉลากหรือข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“เมื่อนำข้อกฎหมายมาปรับกับพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างพระสมเด็จ ทั้งประเด็นการใช้ตรามหาพิชัยมงกุฎหรือการระบุได้นำมวลสารที่ได้รับพระราชทานมาจัดสร้าง แต่ทางสำนักพระราชวังแถลงการณ์ ปฏิเสธว่าไม่ได้มีพระบรมราชานุญาตให้นำมาใช้ อาจทำให้ คนเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้า เข้าข่ายข้อกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งยังเข้ามาตรา 48 หากมีผู้เสียหายเกิน 50 คน และมูลค่าความเสียหายเกิน 500,000 บาท” นายสุนัยกล่าว