ยันใช้ผลโอเน็ต ตอนจบ6หนเดียว คัดเข้ามหาลัย

กรณีการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

ในระบบแอดมิชชั่น  ใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. มีมติให้ใช้คะแนนโอเน็ตที่สอบในปีที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ครั้งเดียวเท่านั้นในการคัดเลือก  ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มนักเรียน ผู้ปกครอง ขอให้สอบโอเน็ตได้หลายครั้ง เพื่อนำคะแนนสอบครั้งใหม่ที่อาจจะดีขึ้น ไปคัดเลือกเพื่อเปลี่ยนคณะวิชาใหม่ที่ต้องการ รวมถึงกรณีที่เด็กบางคน ไม่สามารถสอบโอเน็ตในปีที่ตนเองจบ ม.6 ได้ เนื่องจากเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือศึกษาอยู่ต่างประเทศและกลับมาไม่ทัน ทำให้พลาดโอกาสในการสอบโอเน็ตในปีนั้น 


ทั้งนี้ ทปอ.ก็ได้ยืนยันหลักการที่จะให้สอบโอเน็ตมาครั้งเดียวตลอด กระทั่งนายวรากรณ์ สามโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ เสนอแนวทางเยียวยาเด็กที่ไม่มีคะแนนโอเน็ตในปีที่จบ เด็กที่ต้องการย้ายคณะ โดยเสนอให้ออกข้อสอบพิเศษต่างหากอีกชุด ในเบื้องต้นใช้ชื่อว่าซีเน็ต เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กนำคะแนนซีเน็ตไปคัดเลือกในระบบแอดมิชชั่นอีกครั้ง ทั้งนี้ ทปอ.รับหลักการที่จะเยียวยาเด็กที่ไม่มีคะแนนโอเน็ตในปีที่จบ แต่จะใช้วิธีการใดนั้น จะนำเข้าหารือในที่ประชุม ทปอ.ก่อนนั้น 


เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. เวลา 09.00 น. ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ได้มีการประชุม ทปอ. เพื่อหารือกรณีดังกล่าว กระทั่งเวลา 13.00 น. จึงเสร็จสิ้นการประชุม ต่อมานายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะประธาน ทปอ. ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมยืนยันหลักการคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในระบบแอดมิชชั่นว่า จะใช้คะแนนโอเน็ตที่สอบตรงปีที่จบ ม.6 ครั้งเดียวเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก ส่วนกรณีที่เด็กประสบปัญหา ไม่สามารถสอบโอเน็ตได้ในวันที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. กำหนด เนื่องจากเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทปอ.มีมติที่จะอนุโลมให้สอบได้อีกครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด เบื้องต้นอาจจะไม่เกินภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้สอบ แต่หากไม่มาสอบในเวลาที่กำหนด ก็ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยโดยระบบรับตรง โดย ทปอ.จะทำหนังสือไปถึง สทศ.ให้จัดสอบให้อีกครั้ง โดยจะเริ่มสำหรับนักเรียน ม.6 ที่จบปีการศึกษา 2550 ที่จะสอบโอเน็ตในเดือน ก.พ. 2551 เป็นต้นไป และจะใช้หลักการนี้ต่อไปสำหรับแอดมิชชั่นปี 2553 ซึ่งจะมีการปรับองค์ประกอบใหม่ แต่ยังใช้คะแนนโอเน็ตอยู่ 


ส่วนข้อเสนอของนายวรากรณ์ ให้มีข้อสอบซีเน็ตสำหรับเด็กซิ่ว ที่ต้องการย้ายคณะใหม่ หรือเด็กที่ไม่มีคะแนนโอเน็ต ก่อนปีการศึกษา 2550 นั้น นายวันชัย กล่าวว่า ข้อเสนอของนายวรากรณ์นั้น ที่ประชุมยืนยันหลักการการใช้คะแนนโอเน็ต ที่สอบในปีการศึกษาที่จบเท่านั้น และหาทางเยียวยาเด็กที่พลาดการสอบในปีนั้นดังกล่าวข้างต้น ส่วนเด็กซิ่วหรือเด็กที่ไม่มีคะแนนโอเน็ต ก่อนปีการศึกษา 2550 กรณีดังกล่าว จะต้องให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยในระบบรับตรง โดย ทปอ.ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดกว้างรับตรงให้มากขึ้นเท่าที่จะทำได้


ประธาน ทปอ.กล่าวด้วยว่า
 
นอกจากนี้ ทปอ.ยังเห็นชอบให้มีการนำร่องนำคะแนนความดีมาใช้ในการสอบรับตรง และแอดมิชชั่นปี 2551 โดยให้นักเรียนนำหลักฐานกิจกรรมการทำความดี ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะออกให้นักเรียน มาประกอบในวันสอบสัมภาษณ์ ซึ่งจะมีผลต่อการสอบได้หรือสอบไม่ได้ของเด็ก กรณีที่เด็กมีคะแนนสอบเท่ากัน ส่วนในปีต่อๆไป จะนำคะแนนความดีเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกแอดมิชชั่น แต่จะเป็นสัดส่วนเท่าไรนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ ทั้งนี้ ทปอ.ยืนยันว่าความดีที่นักเรียนทำนั้นมีคุณค่าต่อการเข้ามหาวิทยาลัยแน่นอน นอกจากนี้ที่ประชุม ทปอ. ยังได้คัดเลือกประธานทปอ.คนใหม่ ในปีหน้า คือนายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธาน ทปอ.คนต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์