นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานการประชุมเตรียมความพร้อมระบบบริการทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องฟรี
สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่า เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป ปี 2548 พบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวน 15,736 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจำนวน 6,792 ราย และผู้ป่วยรายใหม่ที่ล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD) จำนวน 388 ราย ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะเริ่มให้บริการในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน 23 แห่ง ขยายเต็มพื้นที่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายเก่าที่ใช้วิธีการฟอกเลือดต้องร่วมจ่ายค่าฟอกเลือดประมาณหนึ่งในสามของค่าบริการ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่จะใช้วิธีฟอกเลือดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. กล่าวว่า โครงการทั้งหมดมีระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2551-2560 ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยแยกจากงบฯเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 88,806 ล้านบาท โดยในปี 2551 ใช้งบประมาณที่เหลือจากการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ปี 2550 จำนวน 836 ล้านบาท ซึ่งมีเหลือเนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และราคายาที่ต่ำลงจากการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ และในปี 2552 จะมีการขอตั้งงบประมาณจำนวน 2,466 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาระบบริการการล้างไตผ่านหน้าท้อง ระยะแรกเน้นที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ