นพ.มรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า
องค์การสหประชาชาติรายงานล่าสุดในปี 2548 มีผู้หญิงทั่วโลกตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ประมาณ 80 ล้านคน ในจำนวนนี้แก้ปัญหาด้วยการทำแท้ง 19-20 ล้านคน โดยร้อยละ 55 อยู่ในประเทศแถบเอเชีย ในจำนวนนี้ติดเชื้อหลังทำแท้งปีละกว่า 3 ล้านคน และเสียชีวิตจากการทำแท้งปีละ 68,000 คน ทั้งนี้ อัตราตายของแม่จากการตั้งครรภ์ เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพบริการสาธารณสุขของประเทศในด้านสุขภาพของผู้หญิง ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ที่ 24 คนต่อการเกิดมีชีพทุก 100,000 คน ถือว่าอยู่ระดับที่เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลับพบการตายของผู้หญิงไทยจากการทำแท้งถึง 300 คน ต่อผู้หญิงที่ทำแท้งทุก 100,000 คน
รมช.สธ. กล่าวต่อว่า จากการศึกษาสถานการณ์การแท้งในไทยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 8 ปีมานี้
พบว่ามีหญิงไทยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนหลังแท้งลูก 45,990 ราย เกือบ 1 ใน 3 หรือประมาณ 13,000 คน ทำแท้งเถื่อน ซึ่งร้อยละ 70 อายุต่ำกว่า 25 ปี โดยเสียค่าทำแท้งเฉลี่ยครั้งละ 2,684 บาท สูงสุด 20,500 บาท ซึ่งการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงสูงถึงร้อยละ 40
สาเหตุหลักได้แก่ การติดเชื้อทางกระแสเลือดอย่างรุนแรง
เนื่องจากมีการใส่สารเหลวต่างๆ หรืออุปกรณ์ของแข็งที่ไม่สะอาดเข้าไปในช่องคลอด ในโพรงมดลูก รองลงมาคือ มดลูกทะลุ ซึ่งหากประมาณการผลเสียแล้ว ประเทศไทยมีความสูญเสียเศรษฐกิจจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัยปีละกว่า 300 ล้านบาท ในการแก้ปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัยของประเทศไทย สธ. มีนโยบาย 2 ส่วนได้แก่ การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยให้ความรู้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เรื่องเพศศึกษา การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการคุมกำเนิด และการเพิ่มคุณภาพการดูแลรักษาผู้หญิงที่แท้งลูก.