อดีตนายพรานผู้หนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า
ปกติกระทิงเป็นสัตว์รักสงบ หากินกันเป็นฝูงเล็กๆ ยกเว้นกระทิงตัวผู้หรือกระทิงโทน ซึ่งชอบหากินเพียงลำพัง ไม่รวมฝูง จะมีขนาดใหญ่มาก บางตัวมีความสูงนับแต่เท้าจนถึงหนอกหลัง อาจสูงถึง 2 เมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1.5 ตัน แม้จะมีรูปร่างใหญ่โต แต่การสะกดรอยตามล่ากระทิงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระทิงเป็นสัตว์ที่มีความระแวงภัยสูง มีจมูกดีมาก สามารถดมกลิ่นต่างๆได้ในระยะไกล ยิ่งเป็นกระทิงป่าที่ไม่คุ้นเคยกับมนุษย์ จะมีความดุร้าย ไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้เด็ดขาด ขนาดเสือใหญ่ๆยังไม่กล้ายุ่งกับมัน เพราะกระทิงโทนจะแข็งแรงมาก และเป็นสัตว์นักสู้ เวลาต่อสู้มักจะวิ่งเข้าชาร์จศัตรูได้อย่างรวดเร็ว หากชาร์จผิดจะวนกลับมาชาร์จ ซ้ำอีกครั้ง แถมยังมีกีบเท้าที่คมคล้ายใบมีดโกน ตะกุยถูกตรงไหนเหวอะหวะที่นั่น ยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูติดสัด กระทิงตัวผู้จะดุร้ายกว่าปกติ และถ้าถูกแหย่ ถูกรบกวน หรือทำให้บาดเจ็บ จะทวีความดุร้ายมากขึ้น
“กระทิงจะออกหากินหญ้าช่วงเช้าและช่วงเย็น ส่วนบ่ายๆ จะหลบนอนพักตามซุ้มไม้ดงทึบ หรือแช่ปรักโคลน แม้จะพบรอยเท้าแต่การตามล่าตัวไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะอาจถูกกระทิงวิ่งชาร์จเข้าทำร้ายได้ทุกเมื่อ ตนเคยเห็นกระทิงโทนตัวใหญ่วิ่งชาร์จสวนทางปืน และขวิดนายพรานมือฉมังคนหนึ่งตายต่อหน้าต่อตามาแล้ว จึงอยากฝากเตือนไปถึงชาวบ้านที่ไม่มีประสบการณ์และออกไล่ล่ากระทิงในครั้งนี้ หากพลั้งพลาดไปยิงกระทิงเจ็บ จนกลายเป็นสัตว์ลำบาก จะมีอันตรายมาก ต่อไปเมื่อกระทิงเห็นคน มันจะเข้าทำร้ายทันที ทางที่ดีปล่อยให้มันหลบเข้าป่าลึกไปเองดีกว่า” อดีตพรานมือเก๋ากล่าวเตือนด้วยความหวังดี
ด้านนายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กล่าวถึงกรณีกระทิงป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย ออกมาทำร้ายประชาชนได้รับบาดเจ็บว่า เป็นกระทิงป่าตัวผู้ ซึ่งอยู่ในอาการติดสัด ถือว่าเป็นช่วงที่สัตว์กำลังดุร้าย เชื่อว่ากระทิงตัวดังกล่าวออกมาพบกับวัวบ้านตัวเมีย ที่ชาวบ้านปล่อยไปเลี้ยงในป่า ทำให้ตามออกมาเพื่อผสมพันธุ์ และเมื่อเจอชาวบ้านจึงแสดงความดุร้ายเข้าทำร้ายทันที ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ร่วมกับตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น นำกำลังเข้าตามหาอย่างเต็มที่แล้วเพื่อยิงยาสลบและนำตัวมาเก็บไว้ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ก่อนจะตรวจดีเอ็นเอ เพื่อหาสายพันธุ์ว่าสามารถจะนำไปปล่อยที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้หรือไม่
“ขณะนี้พบว่าจำนวนสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่พื้นที่ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนยกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นมาก โดยจากข้อมูลที่สำรวจล่าสุด มีประชากรช้างเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ซึ่งช้างนับเป็นผู้นำของสัตว์ป่าต่างๆ สามารถบ่งชี้ได้ว่าน่าจะมีจำนวนสัตว์อื่นๆเพิ่มขึ้นด้วย และกระทิงก็น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจจำนวน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกระทิงตัวนี้ เจ้าหน้าที่กำลังติดตามอยู่ โดยจะใช้ยาสลบยิงหากพบตัว แต่ห้ามจับตายหรือยิงทิ้งเป็นอันขาด จึงขอเตือนชาวบ้านว่าถ้าพบก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที อย่ายิงทิ้งเองเพราะจะถือว่าผิดกฎหมาย”
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวต่อว่า ขณะนี้ในพื้นที่รักษาพันธุ์เขาอ่างฤาไนยกำลังเป็นปัญหามาก
เนื่องจากพบว่ามีสัตว์บ้านเข้าไปหากินในพื้นที่ของสัตว์ป่าจำนวนมากขึ้น และอาจจะทำให้เกิดปัญหาโรคระบาด ทั้งการเอาเชื้อจากบ้านไปแพร่ในป่า และการเอาเชื้อสัตว์ป่ามาแพร่ในสัตว์บ้าน ทำให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเตรียมตั้งศูนย์เฝ้าระวังและพิทักษ์สัตว์ขึ้นในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ต่างๆทั่วประเทศ โดยจะมีการส่งสัตวแพทย์ไปประจำ เพื่อดูแลรักษาสัตว์ที่เป็นโรคต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมามีเฉพาะเจ้าหน้าที่สัตวบาล ที่อาจจะยังดูแลเรื่องการรักษาสัตว์ได้ไม่ลึกซึ้งนัก อย่างไรก็ตาม อยากจะขอความร่วมมือจากชาวบ้านไม่ให้ปล่อยสัตว์บ้านเข้าไปเลี้ยงในป่า เพราะอาจจะแพร่กระจายโรคสัตว์ได้
“ในฤดูนี้ถือว่าเป็นฤดูผสมพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด อาจจะทำให้สัตว์ป่ามีความดุร้ายเป็นพิเศษ จึงอยากเตือนนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ป่า ในเขตอุทยานฯต่างๆ ว่าไม่ควรจะออกนอกเส้นทางที่เจ้าหน้าที่กำหนด หรือหากจำเป็นจะต้องเข้าไปก็ขอให้มีเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ เป็นผู้นำทางเข้าไป เพราะอาจจะถูกสัตว์ป่าที่อยู่ในอาการติดสัดทำร้ายได้” นายสามารถกล่าว