คมนาคมเล็งปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่หลังก๊าซแอลพีจีขยับ
ระบุอัตราใหม่ต้องจ่ายเพิ่ม 8-10 บาทต่อเที่ยวโชเฟอร์มีรายได้เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 100 บาทด้านผู้ประกอบการร้องกระทรวงพลังงานเร่งแก้ปัญหาก่อนหารือเพื่อกดดันต่อไปจากกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ยื่นข้อเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกในฐานะนายทะเบียนปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ใหม่ ให้สอดคล้องกับต้นทุนเดินรถที่เพิ่มขึ้น หลังจากไม่มีการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มาเป็นเวลากว่า 10 ปี
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า
กรมการขนส่งทางบกได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาค่าโดยสารรถแท็กซี่ และมีผู้แทนจากผู้ประกอบการรถแท็กซี่ และตัวแทนจากผู้บริโภค โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นจะตรึงอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 35 บาทเช่นเดิมแต่จะเพิ่มการคิดค่าโดยสารที่กิโลเมตรถัดไปเร็วขึ้น รวมทั้งปรับลดอัตราค่าโดยสารระยะไกลลดลงประมาณ 25 สตางค์ ปัจจุบัน2 กิโลเมตรแรกมิเตอร์จะไม่วิ่งแต่กิโลเมตรถัดไปจะเริ่มปรับราคา ส่วนอัตราค่าโดยสารใหม่มิเตอร์จะเริ่มปรับราคาตั้งแต่กิโลเมตรที่ 2 ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ8-10 บาทต่อเที่ยวขณะที่คนขับรถแท็กซี่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 100 บาทต่อวันโดยใช้พื้นฐานว่าคนขับรถแท็กซี่สามารถวิ่งให้บริการได้วันละ 14 เที่ยว นายชัยรัตน์กล่าว
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวอีกว่า
อัตราค่าโดยสารใหม่จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะขณะนี้กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม หากกระทรวงเห็นชอบตามที่เสนอก็สามารถประกาศใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ได้ทันที
นายชัยรัตน์กล่าวอีกว่า
ในส่วนของต้นทุนราคาก๊าซแอลพีจี ที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเดินรถของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ไม่มาก ดังนั้นการพิจารณาจึงต้องรอบคอบ โดยคำนวณว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้วทำให้ต้นทุนการเดินรถเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละเท่าใด นอกจากนี้ยังมีนโยบายสนับสนุนให้รถแท็กซี่หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้เป็นสัดส่วน 20% ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ต้องใช้เอ็นจีวีเท่านั้น
นายเกษมศานต์ชมภูแดง เลขานุการสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้าง และผู้จัดการสหกรณ์ภูมิพลังแท็กซี่ กล่าวว่า
ราคาก๊าซแอลพีจีที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเดินรถแท็กซี่อย่างมาก โดยคนขับรถแท็กซี่ 1 กะ12 ชั่วโมงจะมีรายได้หลังหักค่าเช่าและค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงเหลือประมาณ 200 บาทจากเดิมที่มีรายได้ 300 บาทขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นแต่รายได้ลดลงคนขับรถแท็กซี่ที่มีอยู่ประมาณ1.5-1.6 แสนคนจะทำอย่างไร ในขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่ค่าโดยสารไม่เพิ่มขึ้น ทุกวันนี้รัฐบาลพยายามผลักดันให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ทั้งๆ ที่สถานีบริการมีไม่เพียงพอ ซึ่งเร็วๆ นี้สมาคมจะนัดประชุมและเตรียมยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรถแท็กซี่ หากไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา สมาคมอาจมีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันต่อไป" นายเกษมศานต์ กล่าว