ปรากฏว่า จากการตรวจสอบพบบริษัทโกล์เด้นเก็ตกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
ที่ถูกทางดีเอสไอจับกุม และ ดำเนินการไปแล้วที่กรุงเทพฯ แอบมาเปิดสาขาอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญธรรมพัฒนกิจเทรดดิ้ง จำกัด และร้านพลเจริญการค้า จึงสั่งการให้ ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงไปสืบหาพยานหลักฐาน จนทราบว่า หจก.ดังกล่าว มีนายพีรพณ เจริญธรรม เป็น ผู้บริหาร และตามประวัติพบว่า นายพีรพณ อดีตเป็นพนักงาน บริษัทโกล์เด้นฯ และการดำเนินกิจการมีพฤติกรรมเหมือนบริษัทแม่ทุกประการ จึงรวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาล ขออนุมัติหมายจับ และตามจับกุมข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน พ.ศ. 2527
ขณะที่ พ.ต.อ.มนตรีเผยว่า
คดีนี้ไม่เหมือนกับคดีอื่น เพราะคดีนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้เสียหาย สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ ในชั้นการจับกุมผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธ จึงขอฝากไปยังผู้เสียหายที่ไปร่วมลงทุนกับ หจก.เจริญธรรมฯ และร้านพลเจริญการค้า มาให้ปากคำ กับพนักงานสอบสวน เหตุที่ยังไม่มีคนมาแจ้งความ เพราะกลัวจะไม่ได้เงินที่ลงไปคืน หรืออาจเห็นว่าบริษัทยังไม่ล้ม ยังมีเงินหมุนต่อยอดอยู่ จากการตรวจสอบพบมีเงินหมุน เวียนอีกราว 20 ล้านบาท ส่วนทรัพย์สินตึกแถวของบริษัท และบัญชีเงินฝากของนายพีรพณ 7 บัญชี ถูกดีเอสไออายัด เอาไว้ในคดีบริษัทโกล์เด้นฯแล้ว แต่ผู้ต้องหายังไม่ยอมเข็ดหลาบและเกรงกลัวกฎหมาย กลับนำสมาชิกเก่าของบริษัท โกล์เด้นฯมาระดมทุนใหม่อีก
ด้าน พ.ต.ท.สามารถ สารวัตรเวรเจ้าของคดี กล่าวว่า
ได้สอบปากคำพยานไปแล้ว 3 ปาก พยานบางคนยืนยันว่า การลงทุนกับผู้ต้องหาต้องไปซื้อหุ้น 1 หุ้น ราคาหุ้นละ 1,500 บาท ผ่าน 3 วัน จึงจะได้ทุนคืน 700 บาท และผ่าน 30 วัน ได้เงินคืน 1,500 บาท และ 60 วัน ได้อีก 1,500 บาท ลูกค้ามีอายุ 3 เดือน จะต้องต่อทุนใหม่ หาก ไม่ลงทุนถือว่าหมดสมาชิกภาพ ขณะที่พยานบางคนเผยว่า 3 วันแรกได้เงินคืน 700 บาท ส่วนที่เหลือจะไม่ได้คืน และบริษัทจะเปลี่ยนชื่อบริษัทและผู้บริหารใหม่เพื่อหลีกเลี่ยง แต่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ขนเงินมาระดมทุน แต่ไม่กล้ามาแจ้งความเพราะเกรงว่าจะไม่ได้เงินคืน
ขณะที่นายพีรพณ ผู้ต้องหา กล่าวว่า
ได้ให้การปฏิเสธ เพราะว่าแชร์ของตนยังหมุนเงินได้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ยังปันหุ้นให้สมาชิก ส่วนสาเหตุที่แชร์ของบริษัทโกล์เด้นฯซึ่งเป็นบริษัทเก่าล้ม เพราะเจ้าของเอาเงินไปใช้นอกระบบ ผิดกับตนที่เอาบทเรียนจากครั้งนั้นมาแก้ไขปรับปรุงจนบริหารเงินได้ดีกว่าเดิม จะมาโทษตนไม่ได้ ต้องโทษลูกค้า ที่เกิดความโลภเอง บางคนนำเงินมาลงทุนมาก เพราะอยากได้เงินเยอะๆ เมื่อเขาได้รับกำไรไป กลับนำเงินมาเพิ่มทุนอีกเพื่อต่อยอดเงิน