อย.ห้ามเครื่องดื่มชูกำลังจัด ส่งฝาชิงโชค

นพ.ศิริวัฒน์  ทิพย์ธราดล  เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ที่ผ่านมา อย. ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง

เพื่อหารือและขอความร่วมมือในการยุติการส่งฝาชิงโชคที่เป็นการส่งเสริมการขาย ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง อย. ได้เคยขอความร่วมมือไม่ให้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้มาแล้วเมื่อหลายมาแล้ว เนื่องจากเครื่องดื่มกลุ่มนี้มีส่วนผสมของคาเฟอีน มีการกำหนดห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ จึงเห็นควรไม่ให้มีการทำการตลาดในลักษณะให้ผู้บริโภคเพิ่มการดื่มมากขึ้น ทั้งลดแลกแจกแถม หรือชิงโชค แต่ระยะหลังมานี้ กลับพบว่ามีหลายบริษัทเริ่มนำกลยุทธ์ทางการตลาดนี้กลับมาใช้อีก ดังนั้น อย.จึงต้องขอความร่วมมืออีกครั้ง โดยผู้ประกอบการที่เ! ข้าร่วมหารือต่างให้เหตุผลว่า เมื่อมีบางบริษัทเปิดให้มีการส่งชิ้นส่วนชิงโชคของรางวัล ก็จำเป็นที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องทำตามเพื่อไม่ให้เสียเปรียบทางการตลาด ซึ่งหากมีการห้ามชิงโชคก็ควรมีการยุติทั้งหมด ซึ่งทางผู้ประกอบการเองก็ยินดีให้ความร่วมมือ  
 

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า แม้จะไม่มีกฎหมายห้ามโดยตรง

แต่หากผู้ประกอบการรายใดไม่ให้ความร่วมมือและยังคงฝ่าฝืนโดยเปิดส่งฝาชิงโชค ทาง อย. ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.อาหาร เพราะอยู่ในข่ายมีการเพิ่มข้อความ หรือแก้ไขรายการโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะข้อความชิงโชคที่ติดอยู่ที่ฝาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของฉลากอาหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน ของกระทรวงมหาดไทย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50-2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
“ขณะนี้ อย. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ที่จ.นครปฐม ปราจีนบุรี อยุธยา และกรุงเทพฯ  โดยดูจำนวนฝาชิงโชคที่ผลิตขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอ้างว่า มีการผลิตฝาชิงโชคไว้ถึง 5 แสนฝา จึงขอผ่อนผันนานถึง 9 เดือน ซึ่งเราคงให้เวลานานขนาดนั้นไม่ได้ จึงต้องให้เจ้าหน้าที่ออกไปตรวจดูข้อเท็จจริง เพื่อวางแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งเครื่องดื่มชูกำลังขณะนี้มีกว่า 10 บริษัท ที่ผลิตจำหน่าย โดยบริษัทใหญ่มี 4-5 ราย ซึ่งจำเป็นที่ต้องควบคุม โดยเป็นนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ที่ต้องการให้ดูแลในส่วนนี้ เชิญบริษัทผู้ผลิตมาระงับการทำการตลาดในลักษณะนี้” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
 
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า เครื่องดื่มชูกำลังมีส่วนผสมของสารคาเฟอีนสังเคราะห์

ซึ่งผู้ดื่มส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ไม่อยากให้มีการดื่มเกินความจำเป็น เพราะมีบางคนเข้าใจผิดดื่มวันละหลายขวด จากข้อมูลองค์การพัฒนาเอกชนพบว่า ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานบางคนมีรายได้วันละกว่า 100 บาท แต่เสียเงินซื้อเครื่องดื่มชูกำลังวันละหลายขวดทั้งที่ไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้สารคาเฟอีนหากเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นหัวใจ เต้นแรง ความดันขึ้นสูง ซึ่งหากดื่มเพียง 1-2 ขวด อาจช่วยให้หายง่วงได้ แต่หากจำนวนคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายมากไป จะทำให้ปวดศีรษะ เกิดอาการเบลอ หลับในจนอาจเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการทำงานได้.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์