มวยเด็กอันตรายเตี้ยแคระ-อัมพาต

เผยเด็กชกมวยได้ค่าตอบแทนแค่25-300 บาทขณะที่โปรโมเตอร์โหดนิยมจัดมวยเด็กชกข้ามรุ่นไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เพียงเพื่อความรุนแรง-สะใจผลวิจัยชี้เด็กถูกชกมาก ส่งผลเตี้ยแคระแกร็น เลือดคั่งในสมองถึงขั้นอัมพาต ความจำเสื่อม
 

เมื่อวันที่20 พฤศจิกายนที่โรงแรมปรินซ์

นพ.พลเดชปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการเสวนารับฟังความคิดเห็นเรื่องกีฬามวย: มาตรการในการคุ้มครองนักมวยเด็ก เนื่องในวันสิทธิเด็กสากลซึ่งตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน มีหน่วยงานภาครัฐเอกชนที่ทำงานด้านเด็ก โปรโมเตอร์ เจ้าของค่ายมวย นักมวยเด็ก และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 300 คนว่า

จากผลการสำรวจเชิงวิจัย ไชลด์ วอทช์โปรเจคท์ ของสถาบันรามจิตติพบว่า

เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีชกมวยไทยบนเวทีมวยอาชีพตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานศึกษา สถานที่ราชการจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กภาคอีสานเกือบ 8,000 คนการขึ้นชกแต่ละครั้งเด็กจะได้รับเงิน 50-600 บาทหักให้ค่ายมวยครึ่งหนึ่ง หากเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเด็กไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยตาม พ.ร.บ.มวยไทยเนื่องจากมีข้อกำหนดว่าเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถจดทะเบียนนักมวยและได้สิทธิเรียกเงินชดเชยได้

"เด็กนักเรียนที่ชกมวยส่วนใหญ่หาเงินเรียน ส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัว ต้องขาดเรียนบ่อยๆ จนต้องลาออกเพราะถูกกดดันจากครูที่โรงเรียน การชกมวยยังส่งผลกระทบต่อข้อต่อกระดูกและสมองของเด็ก ซึ่งทางการแพทย์ระบุว่าเด็กที่มีอายุ 0-14 ปีต้องอาศัยข้อต่อกระดูกต่างๆ ในการเจริญเติบโต แต่หากได้รับผลกระทบจะทำให้เด็กตัวเตี้ยแคระแกร็นกว่าเด็กปกติ นพ.พลเดชกล่าว
 

นพ.อุเทนปานดี อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.รามาธิบดีกล่าวว่า 

การใช้แรงที่กระทำเหมาะสมจะทำให้กระดูกยืดได้เหมาะสม หากกระทำไม่เหมาะสมจะขัดขวางการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งการชกมวยส่วนใหญ่จะถูกบริเวณศีรษะ ใบหน้า ตา ฟัน ช่องปาก อาจมีฟันหัก หลุด บ่อยครั้งส่งผลอันตรายต่อสมอง เยื่อหุ้มสมองฉีกขาด ทำให้เลือดคั่งในสมอง หมดสติ หรืออัมพาตเฉียบพลัน บางรายส่งผลในวัยกลางคน ทำให้เคลื่อนไหวช้า ความจำเสื่อม หรือสมองเสื่อมได้
 

นายชัชชัยโกมารทัต หัวหน้าศูนย์บริการวิชาการและวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 

มวยเด็กมีอันตรายอาจทำให้สมองเสื่อมได้จริง หากมีการจัดแข่งขันมวยเด็กแบบผิดหลักวิชาการ จัดให้เด็กต่างวัยน้ำหนักส่วนสูงต่างกันมาชกกัน เน้นความรุนแรงสะใจของคนดู แต่ถ้าจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ รับรองว่าไม่มีปัญหา การชกโดยสวมอุปกรณ์ป้องกัน สนับเข่า สนับศอก เฮดการ์ด จะช่วยป้องกันอันตรายได้เกือบ 100 % ดังนั้นต้องทำให้ถูกหลักวิชาการจัดคู่ชกมวยที่อายุเท่ากันน้ำหนักส่วนสูงพอๆ กัน ส่วนอายุของเด็กที่เหมาะสมจะเริ่มชกมวยคืออายุ 12 ปีขึ้นไปเพราะประสาทสัมผัสพร้อมแล้ว แต่ต้องให้ชกภายใต้กฎกติกา
 

ทางออกของการชกมวยเด็กอย่างปลอดภัยควรกำหนดประเภทการชกมวยเด็กไทย ไม่มุ่งเน้นความรุนแรงให้เป็นอีกทางเลือก การกำหนดหลักสูตรเทคนิค ข้อปฏิบัติการเปิดโรงเรียน ค่ายมวย คุณสมบัติผู้บริหาร การอำนวยความสะดวกความปลอดภัย โดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมมวยต่างๆ ต้องเข้ามาช่วยดำเนินการ นายชัชชัย กล่าว
 

ส่วนการแก้ปัญหาต้องปรับปรุงเกณฑ์การแข่งขันมวยเด็กคือจำแนกฝีมือนักมวยเป็นระดับต้น กลาง และสูง 

ถ้าต้องการข้ามระดับต้องมีคุณสมบัติตามกำหนด ปรับจำนวนยกการชก เกณฑ์การให้คะแนนเน้นการป้องกันและการออกอาวุธ ไม่เน้นน้ำหนักหมัด หรือสไตล์การชกที่ดุเดือดรุนแรง มวยเด็กควรแข่งขันเพื่อพัฒนาฝีมือ ไม่ต้องชกจริงกับคู่ต่อสู้อาจเป็นการแข่งขันอย่างยูโด แบ่งเป็นระดับชั้น ใช้สีเป็นสายรัดเข็มขัดวัดรุ่น กำหนดแนวทางปฏิบัติ และเน้นการแข่งขันเป็นศิลปะการแสดง เน้นความถูกต้องในการใช้ทักษะจะเกิดความปลอดภัยต่อเด็ก
 

ด้านพล.ต.ต.เสวกปิ่นสินชัย เจ้าของค่ายมวยปิ่นสินชัย กล่าวว่า 

การนำเด็กมาชกมวยส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจนเพื่อนำเงินไปเรียนหนังสือและให้พ่อแม่ นักมวยเด็กสุดอายุประมาณ 10 ขวบซึ่งมีวิธีการดูแลความปลอดภัยของเด็ก มีแพทย์คอยตรวจตั้งแต่ก่อนขึ้นชกและแพทย์ข้างสนามมวย รัฐบาลจัดงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือเด็กกรณีเกิดอุบัติเหตุและจัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการขึ้นทะเบียนนักมวยเด็ก กีฬามวยไทยเป็นศิลปะต้องฝึกฝนและเรียนตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบหากให้ฝึกตอนอายุ 15 ปีจะช้าไป ส่วนจะสร้างมาตรการสร้างความปลอดภัยก็ดำเนินการ แต่ไม่ควรห้ามเด็กชกมวย
 

ด้านนายสรรพสิทธิ์คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า 

พ.ร.บ.มวยไทยกับพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมีเนื้อหาที่ขัดกัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมาตรา 26 (7) ระบุว่าการนำเด็กไปชกมวยถือว่ามีโทษทางอาญา ขณะที่ พ.ร.บ.มวยไทยเปิดให้นำเด็กอายุต่ำกว่า15 ปีมาชกมวยได้ เพียงแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ซึ่งอาจต้องอาศัยการตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่ากีฬามวยต้องมีการควบคุม เพราะลักษณะกีฬาทำให้คู่ชกได้รับอันตราย การบาดเจ็บจากตัวกีฬานี้โดยตรง ขณะที่กีฬาอื่นการบาดเจ็บเกิดจากอุบัติเหตุ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง
 

ทางออกคือ มวยเด็กฝึกได้ โชว์ได้ แต่ต้องไม่ใช่ชกเป็นอาชีพ ยกเว้นเด็กอายุเกิน 15 ปีและหากมีการชกต้องมีการกำหนดกติกาให้ดี เช่น หากชกถูกใบหน้า ศีรษะต้องมีการตัดคะแนน ส่วนที่บอกว่าเด็กยากจนต้องไปชกมวยหาเงิน ก็ต้องให้ทุนการศึกษาเด็กและช่วยแก้ปัญหาครอบครัวจะเป็นทางออกที่ดีกว่า นายสรรพสิทธิ์ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์