สมัยนี้มีแก๊ง 18 มงกุฎออกอาละวาดมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น "แก๊งตกทอง" หรือพวก "แก๊งลอตเตอรี่ปลอม" ออกล่าเหยื่อกันไม่เว้นแต่ละวัน หากใครพลาดพลั้งหลงเชื่อรับรองว่าถ้าไม่หมดเนื้อหมดตัวก็ถึงขั้นย่ำแย่
ที่ผ่านมามีคนตกเป็นเหยื่อนักต่อนัก!!
ยิ่งในระยะหลังแก๊งต้มตุ๋นเหล่านี้มีวิวัฒนาการก้าวไกลอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นช่องทางทำกิน เดี๋ยวนี้มาแนวใหม่สุ่มโทรศัพท์เข้ามือถือเหยื่อ แล้วบอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลจากบริษัทโน้นบริษัทนี้เพื่อขอเลขบัญชี หลังจากนั้นจะบอกให้ลองไปกดเงินในตู้เอทีเอ็มดูเพื่อเช็กเงินเข้า
ใครที่หลงเชื่อทำตามจะถูกคนร้ายพูดจาหว่านล้อมซักถามและให้กดคำสั่งจากตู้ตามคำบอก โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือวิธีการดูดเงินในบัญชีเหยื่อเข้าสู่บัญชีคนร้ายไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
มีเหยื่อสูญเงินแล้วเป็นแสนๆ
เหยื่อรายล่าสุดที่ถูกคนร้ายหลอก คือ จ.ส.อ.สมบูรณ์ ชัยจันทึก อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110/92 หมู่ 2 ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ครูชำนาญการ ระดับ 7 โรงเรียนบัวปุ่นสันเทียะอนุสรณ์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ถูกแก๊งคนร้ายโทร.เข้ามือถือในวันที่ 24 ต.ค. บอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัลจากบริษัทโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่งจำนวน 59,000 บาท พร้อมขอเลขบัญชีที่มีบัตรเอทีเอ็ม หลังจากนั้นแก๊งคนร้ายได้บอกจ.ส.อ.สมบูรณ์ให้ลองไปเช็กยอดเงินในตู้เอทีเอ็มดู
ด้วยความดีใจจ.ส.อ.สมบูรณ์รีบเดินไปกดเช็กยอดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม
ธนาคารกรุงเทพ หน้าสโมสรร่วมเริงไชย ภายในค่ายสุรนารีที่ทำงาน แต่ปรากฏว่าไม่มีเงินเข้า จนกระทั่งสักพักได้มีเสียงผู้ชายโทร.กลับเข้ามาที่มือถืออีกครั้ง ทำทีถามว่าเงินเข้าบัญชีหรือยัง จ.ส.อ.สมบูรณ์จึงตอบกลับไปว่ายัง คนร้ายจึงออกอุบายบอกให้จ.ส.อ.สมบูรณ์ สมัครเป็นสมาชิกออนไลน์ก่อนเงินรางวัลจึงจะโอนเข้าบัญชีได้ โดยคนร้ายได้บอกให้กดคำสั่งในตู้เอทีเอ็มตามเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากกดเสร็จจ.ส.อ.สมบูรณ์ได้ออกมานั่งรอสักพักจึงเริ่มนึกเอะใจเพราะคนที่โทร.มาเริ่มเงียบหายไป
ระวัง!! สารพัดเล่ห์แก๊งต้มตุ๋น!?! เหยื่ออาจเป็นคุณ
เมื่อลองกดเช็กยอดเงินดูก็พบว่าเงินในบัญชีหายไปกว่า 170,000 บาทเหลือเงินติดบัญชี 2 พันกว่าบาทเท่านั้น
กว่าจะรู้ตัวก็สูญเงินไปแล้ว!!
หลังพลาดท่าเสียทีจ.ส.อ.สมบูรณ์ รีบเข้าแจ้งความไว้ที่โรงพักเมืองโคราชทันที โดยตำรวจตรวจสอบพบว่าบัญชีที่คนร้ายหลอกให้โอนเงินเข้ามี 2 บัญชี คือ บัญชีเลขที่ 758-0-02302-4 ชื่อบัญชีนายปรีชา ฉิมพลัด ธนาคารกรุงไทย สาขาตลาดกลางบางใหญ่ จ.นนทบุรี และบัญชีเลขที่ 633-0-03451-1 ชื่อบัญชีน.ส.ศุภัตชญากรณ์ สายกลาง ธนาคารกรุงเทพ สาขาย่อยโลตัส จ.ขอนแก่น เมื่อตำรวจประสานขอภาพในกล้องวงจรปิดธนาคาร พบว่าผู้มากดเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยออกจากบัญชีนายปรีชา เป็นผู้หญิงใส่เสื้อสีครีม มัดผมด้านหลัง ลักษณะคล้ายคนท้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป
กล่าวถึงการต้มตุ๋นในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
ที่เป็นข่าวครึกโครมเห็นจะเป็นกรณีของ นายสุนทร เปร่งโอภาส อายุ 43 ปี พนักงานส่งเอกสารบริษัทแห่งหนึ่ง ที่เข้าร้องเรียน "ข่าวสด" ว่าถูกแก๊งต้มตุ๋นพยายามหลอกให้โอนเงินผ่านเอทีเอ็มด้วยวิธีเดียวกัน แต่ด้วยเพราะนายสุนทรเคยทำธุรกรรมการเงินมาแล้วหลายครั้ง เลยพอจะรู้เรื่องการโอนเงินบ้าง จึงไม่หลงกลคนร้ายและยอมทำตาม
สำหรับวิธีการในครั้งนั้นคนร้ายได้โทร.เข้ามือถือนายสุนทร บอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัลจากบริษัทมือถือยี่ห้อดังเป็นจำนวนเงิน 69,000 บาท
พร้อมบอกว่าทางบริษัทกำลังจะโอนเงินให้ผ่านทางเอทีเอ็มและขอเลขบัญชีเหยื่อไปเสร็จสรรพ หลังจากนั้นก็จะบอกให้เหยื่อไปกดเช็กยอดเงินดูว่าเงินเข้าบัญชีหรือไม่ เมื่อเหยื่อไปกดแล้วไม่พบว่ามีเงินเข้า คนร้ายจะให้ลองทำตามวิธีโดยจะให้กดคำสั่งในตู้เอทีเอ็มเป็นภาษาอังกฤษ โดยจะฉวยโอกาสให้เหยื่อกดคำสั่งโอนเงินเข้าบัญชี และบอกตัวเลขบัญชีรวมทั้งจำนวนเงินที่เหยื่อจะโอนให้ ซึ่งหากเหยื่อขาดความชำนาญในการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ก็จะไม่รู้เลยว่ากำลังโอนเงินในบัญชีไปให้คนร้ายเรียบร้อยแล้ว
งานนี้โชคดีที่นายสุนทรไม่ได้เสียรู้ให้แก๊งต้มตุ๋นเพราะมีความรู้ในเรื่องการโอนเงินอยู่บ้าง
มิเช่นนั้นอาจตกเป็นเหยื่อไปอีกราย
นอกจากการตุ๋นผ่านเอทีเอ็มแล้ว การตุ๋นเหยื่อทางอินเตอร์เน็ตหรือ "ตุ๋นข้ามโลก" ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย มีเหยื่อเป็นคุณป้าวัย 63 ปี ซึ่งรายนี้สูญเงินไปถึง 6 ล้านบาท เพราะทำตามคำสั่งคนร้ายที่ส่งอีเมล์ข้ามทวีปมาจากบูร์กินาฟาโซ ทวีปแอฟริกา
งานนี้เล่นเอาคุณป้าถึงกับหมดเนื้อหมดตัวเลยทีเดียว!!
นางเอมอร พรหมมาโนช ชาวจ.ร้อยเอ็ด ผู้เสียหายรายนี้เล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณต้นปี"49 ได้รับอีเมล์แปลกๆ จากบูร์กินาฟาโซ แจ้งว่าคุณคือผู้โชคดีได้รับรางวัลจากกองทุนยาฮูเมล์ จำนวน 850,000 ยูโร ถัดมาไม่นานก็ได้รับอีเมล์จากประเทศเดียวกันอีกครั้ง แต่ใช้ชื่อต่างกันส่งข้อความร่วมแสดงความยินดีที่ได้รับรางวัลอีก 1 รางวัลเป็นเงิน 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นก็มีอีเมล์จากประเทศเบนิน ทวีปแอฟริกาว่าได้รับเงินรางวัล 14.3 ล้านยูโร และอีเมล์สุดท้ายมาจากเมืองกวางโจว ประเทศจีน บอกได้เงินกองทุน 30.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยรวมแล้วกว่าพันล้าน
เมื่อเป็นเช่นนั้นนางเอมอรจึงติดต่อกลับไปยังต้นทางของอีเมล์ทันที
พอติดต่อไปก็มีการตอบกลับมา โดยคนร้ายออกอุบายให้นางเอมอรเดินทางไปรับเงินได้ที่แอฟริกาหรือถ้าไม่สะดวกให้ส่งเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 6 ล้านบาทไป แล้วจะมีการส่งเงินเข้าบัญชีให้ในภายหลัง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นางเอมอร จึงยอมถอนเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต กู้เงินนอกระบบและจำนองบ้านได้เงินมา 6.2 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีคนร้ายไปอย่างง่ายดาย ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับจากแก๊งคนร้ายหรืออีเมล์ลึกลับอีกเลย ซึ่งคดีนี้ตำรวจก็ยังไม่รู้จะไปตามจับใครที่ไหน เพราะคนร้ายอยู่ไกลถึงต่างประเทศและเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ
หมดตัวเพราะเชื่อคนง่ายแท้ๆ
นอกเหนือจากที่กล่าวมา ยังมีพวกหัวใสหากินโดยการเปิดเว็บไซต์ปลอมหลอกเอาเงินจากบัตรเอทีเอ็มอีกด้วย ซึ่งพวกนี้จะสร้างเว็บไซต์แบบธนาคารพาณิชย์ แล้วเพิ่มช่องให้ลูกค้าใส่รหัสเอทีเอ็มหน้าเว็บไซต์ ที่สุ่มส่งไปให้ลูกค้าธนาคาร โดยแจ้งให้ลูกค้าธนาคารใส่รหัสผ่านเพื่อเข้าไปแก้ไขข้อมูล เมื่อลูกค้าหลงเชื่อใส่รหัสผ่าน คนร้ายจะนำรหัสไปเข้าเว็บจริงเพื่อทำการโอนเงินเข้าทันที วิธีนี้ก็โดนกันมาแล้วหลายราย
นอกจากนี้ ยังมีแก๊งตุ๋นอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร อ้างคืนเงินภาษีผ่านเอทีเอ็ม โดยจะหลอกขอเลขบัญชีและให้เหยื่อไปกดตามคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ โดยที่เหยื่อรู้ไม่ทันซึ่งสุดท้ายก็จะถูกดูดเงินในภายหลัง สำหรับวิธีการเอาตัวรอดจากพวก 18 มงกุฎเหล่านี้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแต่อย่าหลงเชื่อคนง่าย
และท่องไว้ให้ขึ้นใจ "ว่าของฟรีไม่มีในโลก"