วานนี้ (15 พ.ย.)
นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมติดตามการเตรียมความพร้อม และการเตรียมให้บริการรองรับปัญหาและผลกระทบด้านสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่โรงพยาบาลระยองและโรงพยาบาลมาบตาพุด
นพ.มรกต กล่าวว่า
วัตถุประสงค์ของการมาที่จังหวัดระยอง เพื่อติดตามมาตรการเฝ้าระวังและแก้ไขผลกระทบสุขภาพของประชาชน จากมลพิษในอากาศที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม โรคที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคผิวหนัง โดยสารเคมีที่ตรวจพบมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด ได้แก่สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในอากาศ และสารโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ปรอทที่พบในน้ำ จำเป็นที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งควบคุมแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างเร่งด่วนและจริงจัง
“ปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาให้โรงพยาบาล สถานีอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองมาบตาพุด 6 แห่ง
เป็นสถานีเฝ้าระวังโรคผิวหนังและโรคระบบทางเดินหายใจ ผลจากการเฝ้าระวัง ในรอบ 10 เดือนนี้ ยังไม่พบความผิดปกติ และได้ดำเนินการตรวจสุขภาพประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ 25 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และตรวจสอบสารเคมีที่ตกค้างในร่างกาย ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม โดยตรวจปัสสาวะหาสารอินทรีย์ระเหยง่าย 3 ชนิดที่ใช้มากในอุตสาหกรรมย่านนี้ ได้แก่ เบนซีน (Benzene) โทลูอีน (Toluene) และสไตรีน (Styrene) ทั้งหมด 2,177 ราย ผลการตรวจพบว่า มี 329 ราย หรือร้อยละ 16 มีสารเบนซีนสูงเกินมาตรฐาน” รมช.สธ กล่าว
นพ.มรกต กล่าวถึงสารเบนซีน ว่า หากสัมผัสซ้ำๆ เป็นเวลานานหลายๆ ปี อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งของเม็ดเลือดขาว หรือลิวคีเมีย (Leukemia)
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 5 สถานี พบสารเบนซีนปนเปื้อนในบรรยากาศเกินมาตรฐานด้วย ทั้งนี้สารเบนซีนจะถูกขับออกทางปัสสาวะภายใน 48 ชั่วโมง และจะหมดไปประมาณ 1 สัปดาห์หากไม่ได้รับเพิ่มอีก โดยกระทรวงสาธารณสุขจะตรวจซ้ำในรายที่พบเกินมาตรฐานในเดือนธันวาคมนี้
นพ.มรกต กล่าวด้วยว่า ผลการตรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในแถบนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพสูงกว่าคนพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2551 - 2554 กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนเพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนในจังหวัดระยองอย่างต่อเนื่อง จะจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทุกเดือนๆ ละ 2 ครั้ง ในปี 2551 นี้ จัดงบประมาณ 253 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตรายประจำภาคตะวันออก ที่โรงพยาบาลระยอง รองรับผู้เจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ป่วยทั่วไป และย้ายโรงพยาบาลมาบตาพุด ออกนอกเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนด้านอาชีวเวชศาสตร์ ดูแลโรคจากการประกอบอาชีพโดยเฉพาะ รวมทั้งจะส่งทีมสอบสวนโรคลงค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งทุกรายในจังหวัดระยองด้วย