ไฮไฟว์ เทรนด์ใหม่ วัยโจ๋ หวั่นตกเป็นเหยื่อ - พูดคุยแต่เรื่องเพศ

Hi5 (ไฮไฟว์) เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องอินเตอร์เน็ต ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น ด้าน สสส. หวั่นตกเป็นเหยื่อ ทำให้เด็กบางกลุ่มแสดงพฤติกรรมทางด้านไม่ดี พูดคุยแต่เรื่องเพศ ใช้เป็นช่องทางในการอยากหาเพื่อนหาคู่

ถ้าใครเอ่ยถึง www.hi5.com หรือชื่อที่เรียกกันติดปากว่า 'Hi5' (ไฮไฟว์) จะเป็นที่รู้จักในหมู่ของนักท่องอินเตอร์เน็ต เพราะกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น จนล่าสุดทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนักวิชาการ ได้แสดงความเป็นห่วงว่าการเล่นไฮไฟว์จะมีผลกระทบต่อวัยรุ่นได้อีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้เด็กบางกลุ่มแสดงพฤติกรรมทางด้านที่ไม่ดี เช่น พูดคุยแต่เรื่องเพศ และใช้เป็นช่องทางในการอยากหาเพื่อนหาคู่ ซึ่งไฮไฟว์เป็นการทำหน้าเว็บไซต์ส่วนตัว แล้วใส่รูปภาพ ใส่คลิปวิดีโอ ข้อมูลส่วนตัวลงไป แล้วชวนให้เพื่อนเข้ามาดู จากนั้นก็จะดูกันต่อเนื่องแบบลูกโซ่ และอาจนำไปสู่การการล่อลวงตามมาได้
 

เว็บไซต์ www.hi5.com มีมาตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

มีสมาชิกที่ลงทะเบียนใช้งานกว่า 65 ล้านคนทั่วโลก สมาชิกส่วนใหญ่จะใช้ไฮไฟว์ในการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกัน มีการแชร์รูปภาพกันดู ตลอดจนบอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น อิทธิพลของไฮไฟว์ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการใช้ทำหน้าเว็บเพจหรือทำบล็อคของนักเรียน นักศึกษา ตามกระแสความ 'ฮิต' ของคอไซเบอร์เมืองไทย แม้ว่าหลายคนอาจคิดว่า 'ไฮไฟว์' เหมือนจะเป็นเว็บไซต์หาคู่ แต่ความจริงแล้ววัยรุ่นกลับมองว่าเป็นวัฒนธรรม หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต



อย่างมุมมองของกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา 'น.ส.ศิริวิรุณ ศริตาศุลารักษ์' นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เล่าว่า

ตนเองก็ติดไฮไฟว์ที่ฮิตกันอยู่ในขณะนี้ เพราะว่ามีโอกาสส่งข้อความหาเพื่อนที่เราไม่ค่อยได้เจอกัน หรือส่งข้อความทิ้งไว้ ก็จะทำให้มีการติดต่อและได้เพื่อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยปกติตนจะเล่นไฮไฟว์ทุกวัน เพื่อเข้าไปเช็คว่ามีข้อความใหม่หรือมีเพื่อนติดต่อมาหรือไม่ เหมือนกับว่าไฮไฟว์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้วเพราะต้องเปิดดูทุกวัน บางคนบ่นว่ามีงานยุ่งมากต้องส่งงานเยอะ แต่ก็ยังเห็นเล่นไฮไฟว์กัน เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในแต่ละวันเหมือนเป็นวัฒนธรรมใหม่ของวัยรุ่นก็ว่าได้


'ถ้าคิดในแง่ดี การเล่นไฮไฟว์ก็เหมือนกับเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เหมือนกับเอารูปมาแบ่งๆ กันดู แต่ถ้ามองในแง่ลบ คิดว่าน้องๆ ที่ยังเด็กอยู่อาจเสียเวลากับการเอาเวลามานั่งทำแต่ไฮไฟว์จนทำให้เสียการเรียนก็เป็นได้ ส่วนตัวคิดว่ามันจะทำให้วัยรุ่นเสียเวลาไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์น้อยลง และถ้าเล่นแล้วต้องระมัดระวังไม่ควรนัดเจอกับเพื่อนที่รู้จักในไฮไฟว์อันตราย' น.ส.กาญจนา เชื้อสวัสดิ์ นักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเห็น


ขณะที่นายสันติภาพ กุลธวิมล นักศึกษาปี 2 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า

ไฮไฟว์ก็เป็นกิจกรรมที่ทำในเวลาว่างอย่างหนึ่ง เอาไว้เล่นหาเพื่อนใหม่ แต่ถ้าเล่นก็ต้องระวัง เล่นได้แต่ว่าอย่าติดมาก ซึ่งหากเล่นแล้วไม่ก่อให้เกิดผลเสียก็เล่นเถอะ แต่หากเล่นแล้วทำให้เสียเวลาที่เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก็ไม่ควรเล่น แม้โลกไซเบอร์จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังพิษภัยที่ซ่อนเร้นอยู่ ดังนั้น ผู้เล่นโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์