เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนและคณะเดินทางลงไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ทะเล ที่หมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยดำน้ำลงไปใต้ทะเลกระบี่ สิ่งที่พบทำให้รู้สึกตกใจมากว่า กลุ่มประการังอ่อนที่เกาะโขดหิน สีสันสวยงาม ได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำเย็นทำให้ตายเกือบหมด โดยเฉพาะประการังในบริเวณที่นักท่องเที่ยวนิยมดำน้ำลงไปดู ได้แก่ เกาะห้าใหญ่ หินม่วงหินแดง ไปจนถึงเกาะรอก เกาะตะรุเตา คิดเป็นระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร พบว่าปะการังเสียหายทั้งหมด โดยหินม่วงหินแดง ที่เคยมีปะการังสีสันสวยงามเกาะอยู่ให้นักท่องเที่ยวดู ตอนนี้กลับกลายเป็นโขดหินว่างเปล่า นอกจากนี้ที่เกาะตะรุเตาก็มีปะการังหายไปมากกว่าครึ่ง ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะตนรู้สึกตกใจและถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คงเหมือนกับภูกระดึง ทั้งภูเขาถูกระเบิดทำลายหายไปนั่นเอง
ดร.ธรณ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ การดำรงชีวิตของปลาการ์ตูนสีส้มขาว หรือปลานีโม ที่เด็กๆ รู้จักกันดีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
โดยจากการสำรวจของตน ก่อนหน้านี้ที่ได้นำปลาชนิดนี้ลงไปปล่อย 1,100 ตัว และลงไปนับจำนวนอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็พบว่าก่อนหน้านี้ปลาเพิ่มจำนวนขึ้นตามธรรมชาติ แต่จากการลงไปสำรวจล่าสุดนับได้เพียง 50 กว่าตัวเท่านั้น และแต่ละตัวก็อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ทรุดโทรม และไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดได้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากปลาชนิดอื่นที่อยู่ในบริเวณนี้เช่นกัน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้สัตว์น้ำใต้ทะเลอันดามันเป็นอย่างนี้ เชื่อว่าจะเกิดจากผลกระทบของกระแสคลื่นน้ำเย็นที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
ปกติแล้วอุณหภูมิในทะเลอันดามันจะอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส แต่บางช่วงกลับวัดได้เพียง 15 องศาเซลเซียสเท่านั้น กระแสคลื่นน้ำเย็นนี้จะเข้ามาเป็นช่วงๆครั้งละประมาณ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
"อยากให้รัฐบาลตระหนักถึงเรื่องการรับมือกับปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง เพราะปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งบนบกและในน้ำ ควรจะให้เรื่องโลกร้อนเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง" ดร.ธรณ์กล่าว
พิษโลกร้อนทำปะการังตายเพียบ
ด้านนายสมเกียรติ ขอเกียรติวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานสมุทรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า
เพิ่งเดินทางกลับจากการตรวจสอบสภาวะสมุทรศาสตร์ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา พบว่ามีมวลน้ำจากทะเลลึกข้างนอกเข้ามาในทะเลอันดามัน ทำให้น้ำทะเลที่ความลึก 20 เมตรลงไปเย็นกว่าปกติ รวมทั้งมีค่าออกซิเจนละลายน้ำต่ำกว่าปกติอีกด้วย
"ในช่วงปกติแล้วในระดับน้ำลึก 100 เมตรลงไป ปริมาณออกซิเจนจะอยู่ที่ 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ไม่เคยต่ำกว่า 2 เลย ยิ่งระดับน้ำลึก ปริมาณออกซิเจนก็จะยิ่งน้อยลง เพราะน้ำมีอุณหภูมิต่ำลงด้วย แต่ล่าสุดที่ไปตรวจวัดมาพบว่าในระดับน้ำลึกเพียง 30-40 เมตร ปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะมีผลต่อปะการังอ่อนและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้ แต่ทีมงานยังไม่ได้ดำน้ำลงไปสำรวจใต้ทะเล เพียงแต่วัดอุณหภูมิและปริมาณออกซิเจนจากผิวน้ำเท่านั้น" นายสมเกียรติกล่าว
เมื่อถามว่า ปรากฏการณ์ที่เกาะสิมิลันเชื่อมโยงกับเรื่องปะการังอ่อนตายจำนวนมากที่เกาะห้าใหญ่และที่หินม่วงหินแดงหรือไม่
นายสมเกียรติกล่าวว่า ต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง แต่เรื่องปรากฏการณ์คลื่นน้ำเย็นนั้น เข้ามาบริเวณกว้าง ส่วนเรื่องปะการังอ่อนตายนั้น อาจจะเป็นผลมาจากปีที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้กระแสน้ำเย็นดังกล่าวนี้ทำให้ปะการังอ่อนในบริเวณดังกล่าวเสียหายไปจำนวนมาก มาถึงปีนี้อาจจะยังฟื้นตัวไม่ทัน อย่างไรก็ตาม หากมีปรากฏการณ์เดียวกันเข้ามาซ้ำเติมก็จะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของปะการังอ่อนช้ามากขึ้นอีก
นายกวีพล ขจรศิริสิน มัคคุเทศก์ดำน้ำ กล่าวว่า
ปีนี้เพิ่งจะเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวทางทะเล ยังไม่ได้ลงไปดูที่เกาะห้าใหญ่ และหินม่วงหินแดง แต่ปีที่ผ่านมากระแสน้ำเย็นทำให้ปะการังอ่อนในพื้นที่ดังกล่าวหายไปมากพอสมควร นักดำน้ำจึงไปดำน้ำกันที่เกาะเชือก เกาะม้า จ.ตรัง แทน ซึ่งบริเวณดังกล่าวยังมีปะการังอ่อนสวยงามให้ชมอยู่