เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็ต กล่าวในงาน
"ทุกขภาวะคนไทย สู่งานสร้างสุข 4 ภาค" ว่า ข้อมูลทีมวิชาการงานสร้างสุขปี 2550 พบว่าโรคมาลาเรียที่เคยระบาดเมื่อ 10 ปีก่อน กลับมาอีกครั้ง และน่าห่วง โดย 2 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในปีนี้พบมากถึง 2,000 ราย สงขลา 1,000 ราย เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตพบ 75 ราย ขณะเดียวกันบุคลากรของสถานีอนามัย 253 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีแนวโน้มลดลง จากที่เคยมีเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือประมาณร้อยละ 70 พอมีโรคภัยเข้ามาก็มีปัญหา รวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยในยามกลางคืนก็ไม่กล้า เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย
"ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในภาวะเครียดและหวาดกลัว รวมถึงในโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน การให้บริการก็ลดลง การตรวจโรคลดลงร้อยละ 25 ทันตกรรมลดลงร้อยละ 50 ที่น่าตกใจคือ การป้องกันโรค ลดลงถึงร้อยละ 70 กิจกรรมเยี่ยมบ้านลดลงร้อยละ 60 ผลสำรวจสะท้อนว่า ความรุนแรงในพื้นที่ ทำให้โรคภัยไข้เจ็บยิ่งเพิ่มและรุนแรงมากขึ้น บางพื้นที่เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานไม่ได้ หากยังเป็นเช่นนี้ อนาคตอันใกล้ ประชาชนจำนวนมากอาจตายรายวันจากโรคร้าย ไม่ต่างจากการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงด้วย" นายสุพจน์ กล่าว
เตือนอหิวาต์ระบาดอีสาน-ใต้
ด้านน.พ.ไพบูลย์ อัศวธนบดี รองประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ งานสร้างสุขภาคอีสาน กล่าวว่า
ขณะนี้โรคอหิวาตกโรคเปลี่ยนไปจากเดิมที่องค์ความรู้ว่า จะระบาดในถดูร้อน โดยมีแมลงวันเป็นพาหะ เป็นการระบาดในช่วงนี้และเกิดจากการบริโภคหอยแครงที่มาจาก จ.สมุทรสาคร และ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้นเหตุการเกิดโรค จากข้อมูลการระบาดช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. พบผู้ป่วยกว่า 200 ราย ที่จ.ขอนแก่น 200 ราย จ.มหาสารคาม 22 ราย พบเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกันคือ วิบริโอ โคลลีลา และโอกาวา ที่ค่อนข้างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่รักษาหาย
"สาเหตุของการระบาดของโรคเกิดจากการกินส้มตำของคนอีสาน ที่เรียกว่าตำป่า ตำซั่ว หรือตำสารพัด ผสมกับอาหารกึ่งสุกและดิบ การสอบประวัติและสุ่มตัวอย่าง เชื้อน่าจะมาจากหอยแครง การกินที่ถูกต้อง ต้องลวกหอยแครงจนขาวซีด แต่ก็ไม่ใช่พฤติกรรมการบริโภคของคนไทย อีกทั้งปัญหาโลกร้อนก็เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรค เพราะอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำให้การแตกตัวของเชื้อโรคมากขึ้น นำไปสู่การระบาดของโรคนี้ได้" น.พ.ไพบูลย์ กล่าว
ส่วนน.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย นายแพทย์สาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงการระบาดโรคอหิวาตกโรคในพื้นที่ว่า
เริ่มมีผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 14 ต.ค. จากการกินยำหอยแครง จำนวน 4 คน จากร้านอาหารแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ต่อมารายที่ 5 ป่วยเมื่อวันที่ 19 ต.ค. จากการกินหอยแครงเผา หอยแครงลวก และยำหอยแครง จากร้านอาหารเดียวกันกับผู้ป่วยกลุ่มแรก และพบผู้ป่วยที่ อ.โพนทอง อีก 2 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยอหิวาตกโรคในจังหวัดร้อยเอ็ดขณะนี้ 7 รายแล้ว
น.พ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุข จ.ร้อยเอ็ด ร่วมกับ ร.พ.ร้อยเอ็ด และเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ออกขอความร่วมมือ และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกแห่งในจังหวัด
และแม่ค้าในตลาดสดทุกแห่ง ขอประกาศเตือนประชาชนให้ระวังใส่ใจในการป้องกันโรค โดยให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และในช่วงนี้ขอให้หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทะเลปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น หอยแครง หอยนางรม ปลาหมึก และอาหารลาบก้อยสุกๆ ดิบๆ เพราะเป็นอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงมาก