กระทรวงสาธารณสุขเผยผลการเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำในปี 50
พบ ปชช.ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง 633 รายใน 23 จ. เซ่นสังเวยชีวิตแล้ว 2 ราย พบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เอลธอร์ โอกาว่า ชี้มีพิษต่อลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงเฉียบพลัน อาจเสียชีวิตภายใน 2-3 ชม. หากไม่รับการรักษา พบสาเหตุจากอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อย่าง ก้อย หอยแครงลวก ออกโรงเตือนให้ประชาชนกินสุกปลอดภัยที่สุด
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะ เดินทางไปติดตามสถาน การณ์การแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบผู้ป่วยในปีนี้มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยได้เยี่ยมอาการของผู้ป่วยที่นอนรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น 3 ราย ซึ่งรักษาหายแล้วแต่อยู่โรงพยาบาลต่อ เนื่องจากมีโรคประจำตัว และเดินทางไปตรวจเยี่ยม ต.บึงเนียม อ.เมือง ซึ่งพบผู้ป่วย 7 ราย และตรวจเยี่ยมการควบคุมความสะอาดของตลาดบางลำพู ในเขตเทศบาลขอนแก่น เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์หรือเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค
นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า
จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การป่วยจากโรคติดต่อทางน้ำและอาหารในปี 2550 นี้ พบประชาชนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ซึ่งมีอันตราย ทำให้เสียชีวิตได้จากการสูญเสียน้ำในร่างกาย ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงวันที่ 21 ต.ค. 50 ทั่วประเทศพบแล้ว 633 รายใน 23 จังหวัด เป็นคนไทย 446 ราย พม่า 185 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นคนไทยทั้งคู่ เริ่มมีรายงานผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา โดย 5 จังหวัดที่มีการระบาดมากที่สุดได้แก่ ตาก 262 ราย รองลงมาคือขอนแก่น 221 ราย ระนอง 76 ราย นครสวรรค์ 20 ราย และมหาสารคาม 17 ราย อีก 18 จังหวัดที่เหลือพบผู้ป่วยประปราย
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า
จากการตรวจวิเคราะห์เชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงครั้งนี้ พบเกิดจากเชื้อเอลธอร์ โอกาว่า (Eltor ogawa) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั่วโลก ไม่ใช่เป็นเชื้อโรคใหม่ ติดต่อกันได้จากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารดิบหรือปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งอาหารทะเลและอาหารทั่ว ๆ ไปเช่นก้อยเนื้อ น้ำตก มีความเสี่ยงอันตรายสูงที่สุด
หลังจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2-3 วัน ร้อยละ 75 ของผู้ได้รับเชื้อ จะไม่มีอาการป่วยแต่แพร่เชื้อต่อได้
เชื้อจะออกมากับอุจจาระ อีกร้อยละ 25 มีอาการป่วย โดยเชื้อจะปล่อยพิษที่เรียกว่าเอ็นทีโรท็อกซิน (enteroto xin) ออกมา ทำให้เกิดอาการ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างเฉียบพลันจำนวนมาก โดยไม่มีอาการปวดท้อง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราตายสูงถึง ร้อยละ 50 โดยจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมง แต่หากได้รับการรักษาทันที ซึ่งขณะนี้มียารักษาให้หายขาด อัตราตายจะต่ำกว่าร้อยละ 1 จึงต้องให้การดูแลอย่างเข้มงวด.
เตือนภัยแบคทีเรีย เอลธอร์โอกาว่า ทำท้องเสียรุนแรงตายภายใน2-3ชม.
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ เตือนภัยแบคทีเรีย เอลธอร์โอกาว่า ทำท้องเสียรุนแรงตายภายใน2-3ชม.