ให้สิทธิ์กะเทยแปลงเพศใช้คำนำหน้านามว่า "น.ส." ได้ ส่วนสาวห้าวไม่น้อยหน้าผ่าแล้วเปลี่ยนเป็น "นาย" ได้เหมือนกัน ด้านหญิงแท้มีทางเลือกมากขึ้นแต่งงานหรือหย่าก็ใช้คำนำหน้านามว่า "น.ส." ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันพุธที่ 24 ต.ค. 2550 มีวาระการประชุมที่น่าสนใจ คือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านามบุคคล พ.ศ.... ที่นางจุรี วิจิตรวาทการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างบุรุษและสตรี และเป็นทางเลือกให้บุคคลที่ผ่านการแปลงเพศในการใช้คำนำหน้านาม และเพื่อเป็นการคุ้มครองมิให้มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและสภาพทางกายหรือสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ในการบันทึกหลักการและเหตุผลในการนำเสนอให้มีการตรากฎหมายฉบับนี้ระบุว่า
เนื่องจากปัญหาการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล โดยเฉพาะสตรีในเรื่องการใช้ชื่อคำนำหน้านาม ทำให้เกิดผลกระทบต่อสตรีในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ และสภาพทางกายหรือสุขภาพจะกระทำมิได้ ทั้งยังกำหนดให้รัฐต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ
ทอม ดี้ กะเทย ได้เฮ สนช.เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านามบุคคลเข้าพิจารณาพุธนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในปี พ.ศ. 2428
ดังนั้น การมีกฎหมายให้ใช้คำนำหน้านาม จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ในการประกันสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองมิให้มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและสภาพทางกายหรือสุขภาพ และยังเป็นทางเลือกให้กับบุคคลที่เห็นว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติ หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากการใช้คำนำหน้านาม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลายมาตราที่มีความน่าสนใจ อาทิ
มาตรา 5 หญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วจะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจ มาตรา 6 หญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วตามมาตรา 5 และเปลี่ยนคำนำหน้านามในภายหลังการสมรสเป็น "นาง" และต่อมาได้จดทะเบียนหย่าจะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ก็ได้ตามความสมัครใจ มาตรา 7 ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง โดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" ก็ได้ มาตรา 8 หญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นชายโดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้านามว่า "นาย" ก็ได้ มาตรา 9 บรรดากฎหมาย กฎ หรือระเบียบใด ที่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน และมาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้
อย่างไรก็ตามได้มี สนช.สายเอ็นจีโอจำนวนมากที่ลงชื่อรับรองในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ นายโคทม อารียา นายสุริชัย หวันแก้ว นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายซบ ยอดแก้ว ฯลฯ.