วานนี้ (16 ต.ค.) นายวราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า
จากการสำรวจของนักธรณีวิทยาในแหล่งขุดค้นที่ อ.ภูกระดึง จ.เลย ได้พบชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ส่วนขากว่า 10 ชิ้นที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเจอที่ชั้นกลุ่มหินน้ำพองห่างจากภูกระดึงประมาณ 6 กิโลเมตร และบริเวณไม่ไกลกันนักยังพบรอยเท้าไดโนเสาร์อีกหลายรอย คาดว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อในยุคไทรแอสสิก (Triassic) อายุประมาณ 210 ล้านปี และประเมินว่าจะเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ตัวแรกในยุคนี้ที่ค้นพบในประเทศไทยด้วย
นายวราวุธ กล่าวว่า อีกพื้นที่หนึ่งคือ บริเวณเทือกเขาภูพาน พื้นที่รอยต่อของ จ.กาฬสินธุ์ มุกดาหาร
พบซากฟอสซิลในพื้นที่ขุดค้นหลายรายการ โดยในจำนวนนี้มีกระดูก ไดโนเสาร์ ในยุคจูแรสสิกอายุ 150 ล้านปี รวมทั้งฟอสซิลปลาน้ำจืด กระจัดการะจายมากกว่า 200 ซาก ซากเต่าขนาดใหญ่ 2 ตัว รวมทั้งส่วนหัวกะโหลกจระเข้ ทั้งหมดที่พบค่อนข้างอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และสามารถบอกได้ว่าพื้นที่แถบอีสานมีความหลากหลายอยู่สูงมากมาแต่ครั้งอดีต "อาจเรียกว่าแหล่งไดโนเสาร์อีสานเป็นจูแรสสิก ปาร์ค 2 ของโลกก็ได้ เนื่องจากมีการขุดค้นพบไดโนเสาร์หลากสายพันธุ์ ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดเชิงลึกเพื่อดูว่าเป็นชนิดพันธุ์ไหนซึ่งอาจใช้เวลาอีก 2-3 ปี" ผอ.สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาฯ กล่าว