ชาวบ้านซวยซ้ำรถตู้-เรือเมล์ จ่อคิวปรับราคาค่าโดยสารเพิ่ม
ผู้ประกอบการอ้างแบกรับภาระน้ำมันแพงไม่ไหว นายกสมาคมรถตู้ขอเพิ่มในอัตรา 10 กม.แรก 10 บาท กม.ต่อไป 60 สตางค์ ขณะที่เรือด่วนขอปรับระยะทางละ 2 บาท เรือข้ามฟากปรับเพิ่มอีก 1 บาท "เจ๊เกียว" ไม่หนำใจได้เพิ่มแค่ 3 สตางค์ เตรียมกดดันรัฐบาลขอเพิ่มเป็น 8 สตางค์
ขณะที่สมาคมรถร่วมฯ จี้ ขสมก.เลิกเก็บค่าตอบแทน ขณะที่กรมการขนส่งสั่งตรวจสภาพรถโดยสารปีละ 2 ครั้ง หวังลดปริมาณอุบัติเหตุบนท้องถนน แฉคนขับรถไม่มีมารยาททำสถิติอุบัติเหตุพุ่ง ผู้โดยสารร้องเรียนเดือนละกว่าพันครั้ง
หลังจากคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางได้อนุมัติให้รถร่วมบริการขนส่ง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร
โดยรถร่วม ขสมก.ธรรมดา ปรับขึ้น 50 สตางค์ รถปรับอากาศขึ้น 1 บาท ขณะที่รถโดยสารร่วมบริการ บขส.ปรับขึ้นกิโลเมตรละ 3 สตางค์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม เป็นต้นไปนั้น ล่าสุดประชาชนอาจจะต้องแบกรับภาระอีกระลอกหลังจากกลุ่มผู้ให้บริการรถตู้โดยสาร และเรือโดยสาร เตรียมขอปรับราคาค่าโดยสารเช่นกัน
เมื่อวันที่10 ตุลาคม นายนพดล เปรมกมล นายกสมาคมรถตู้โดยสาร เปิดเผยว่า
ในเร็วๆ นี้ สมาคมรถตู้โดยสารจะยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกรมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อขอปรับราคาค่าโดยสาร เนื่องจากทนแบกรับภาระจากราคาน้ำมันแพงไม่ไหว ทั้งนี้จะขอปรับตามระยะทาง 10 กิโลเมตรแรก10 บาทกิโลเมตรต่อไป 60 สตางค์ ส่วนคณะกรรมการกรมการขนส่งทางบกกลางจะพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาหรือไม่นั้นคงต้องติดตามกัน
"ผมเข้าใจว่าการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารจะเป็นการผลักภาระให้ประชาชน
แต่ผู้ประกอบการรถตู้ก็อยู่ไม่ไหวเช่นกันเพราะมีภาระจากค่าน้ำมันที่มีการปรับราคาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผมคิดว่าหากไม่ต้องการให้รถตู้โดยสารปรับขึ้นราคา รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือในการให้สินเชื่อ หรือวิธีการหนึ่งวิธีการใดที่ทำให้รถตู้โดยสารสามารถหันไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทนน้ำมัน" นายนพดล กล่าว ไม่ใช่เฉพาะรถตู้โดยสารเท่านั้นที่กำลังจะขอปรับราคาค่าโดยสารเรือโดยสารประจำทางก็เตรียมขอปรับขึ้นราคาเช่นกัน
โดยนาวาโทปริญญา รักวาทิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมเรือโดยสาร กล่าวว่า
ภายในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคมนี้ จะยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) เพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือคลองแสนแสบอีกระยะทางละ 2 บาทส่วนเรือข้ามฟากขอปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาทจากเดิมที่จัดเก็บอยู่ 3 บาททั้งนี้เพราะทนแบกรับภาระค่าน้ำมันไม่ไหว
ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางน้ำฯเคยให้เงื่อนไขกับผู้ประกอบการเรือโดยสารว่าจะอนุมัติให้ปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นถ้าราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตรซึ่งระหว่างนั้นราคาน้ำมันปรับขึ้นมาที่ 25 บาทต่อลิตรนาน1 เดือน ผู้ประกอบการเรือโดยสารจึงไม่ได้ปรับราคาค่าโดยสาร กระทั่งล่าสุดราคาน้ำมันดีเซลแตะที่ 25 บาทต่อลิตรมานานกว่า 6 เดือนแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับราคา โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป นายปริญญา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
นอกจากรถตู้โดยสารและเรือโดยสารเคลื่อนไหวขอปรับราคาค่าโดยสารขึ้นแล้วสหพันธ์ขนส่งทางบก ซึ่งให้บริการขนส่งสินค้าทั่วประเทศก็มีการเคลื่อนไหวขอปรับราคาค่าบริการขึ้นเช่นกัน โดยจะมีการขอปรับขึ้นค่าขนส่ง 3-5 เปอร์เซ็นต์โดยจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายนเช่นกัน
ส่วนผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการบขส.
แม้ว่าคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางจะอนุญาตให้ปรับราคาค่าโดยสารขึ้นกิโลเมตรละ 3 สตางค์ไปแล้ว แต่ก็ยังมีการเรียกร้องขอปรับราคาเพิ่มขึ้นไปอีก โดยนางสุจินดาเชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสาร กล่าวว่า การปรับราคาค่าโดยสารขึ้นเพียงกิโลเมตรละ 3 สตางค์ ถือว่าน้อยมากไม่สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการได้ ซึ่งในสัปดาห์หน้าสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสาร จะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้พิจารณาทบทวนปรับราคาค่าโดยสารขึ้นเป็นกิโลเมตรละ 8 สตางค์ หากไม่ได้ตามที่เรียกร้องจะมีการพิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวรถโดยสารในบางเส้นทาง
ขณะที่นายฉัตรชัยชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน กล่าวว่า
การอนุมัติให้รถโดยสารร่วม ขสมก.ปรับขึ้นราคา50 สตางค์ในรถธรรมดา และ 1 บาทในรถปรับอากาศ ถือว่าน้อยมาก ไม่สามารถลดภาระของผู้ประกอบการลงได้ อย่างไรก็ตามจะยังไม่เรียกร้องให้มีการปรับราคาค่าโดยสารขึ้นอีกในขณะนี้เพราะคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการยกเว้นการจัดเก็บค่าผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้ ขสมก.เดือนละ 1,050 บาทต่อคันแทน
ด้านนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า
บขส.จะยังคงตรึงราคาค่าโดยสารในอัตราเดิมไว้ก่อนไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2551 แม้ว่าคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางจะอนุญาตให้ปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเแล้ว เพื่อต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังจากนั้นคงต้องปรับขึ้นราคาเพราะทนแบกรับภาระไม่ไหว ทั้งนี้ระหว่างที่ตรึงราคาค่าโดยสารทำให้ บขส.ต้องสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า80 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้ากรณีปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในรถเมล์โดยสารซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพรถไม่พร้อมจนตำรวจนครบาลเตรียมเข้าไปตรวจสอบในอู่ของรถโดยสาร ตามรายละเอียดที่ "คม ชัด ลึก" นำเสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุดนายสนานบุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก.ออกมาเปิดเผยอีกว่า
ขณะนี้สหภาพกำลังเตรียมยื่นเรื่องถึงผู้บริหารของ ขสมก.ให้แก้ไขปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงที่ ขสมก.กำลังประสบปัญหาอยู่ โดยมาตรการดังกล่าวนั้นแยกเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกคือ ขสมก.จะต้องตรวจสอบอย่างจริงจังในการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาแต่ละราย ทั้งนี้เพื่อที่จะหาข้อมูลในการทำสัญญาจ้างงานกันต่อไปหรือไม่ ส่วนประเด็นที่2 คือ ขสมก.ควรฟื้นฟูกองซ่อมบำรุง ที่ถูกลดบทบาทไปให้กลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง โดยจะต้องเพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือให้อย่างเต็มที่เพื่อจะได้ซ่อมบำรุงรถเมล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพส่วนประเด็นสุดท้ายคือขสมก.น่าจะร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการบริษัทต่างๆ จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริษัทหนึ่งเพื่อดำเนินการจัดซ่อมบำรุงรถโดยสารทั้งของ ขสมก. และผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ซึ่งจะได้มีมาตรฐานในการทำงานเดียวกัน
ผมมองว่าหากจัดตั้งบริษัทซ่อมบำรุงกลางขึ้นมานอกจากจะทำให้งานซ่อมบำรุงมีมาตรฐานแล้ว ยังสามารถร่วมมือกับโรงเรียนอาชีวะต่างๆ ให้ส่งนักเรียน นักศึกษาเข้ามาทำงาน ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมอีกทางหนึ่งด้วย" นายสมาน กล่าว
ด้านนายรณยุทธ์ตั้งรวมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า
ปัญหาการตรวจซ่อมบำรุงรถเมล์นั้น เป็นเรื่องภายในของ ขสมก. ซึ่งกรมการขนส่งทางบกไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่หากกระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารก็ต้องหามาตรการแก้ไขกัน ซึ่งล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้มีคำสั่งให้มีการตรวจสภาพรถโดยสารทุกประเภทเป็นปีละ 2 ครั้ง จากเดิมที่ตรวจสภาพกันปีละครั้ง ทั้งนี้เชื่อว่าน่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาลงได้บ้าง
นายรณยุทธ์กล่าวด้วยว่า
ที่ผ่านมาการเกิดอุบัติเหตุในรถโดยสารทั้งที่เป็นรถสังกัด ขสมก. และรถสังกัด บขส. ไม่ได้เกิดจากสภาพรถเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากตัวคนขับด้วย ซึ่งจากข้อมูลการร้องเรียนผ่านโทรศัพท์หมายเลข 1584 ของกรมการขนส่งทางบกพบว่าในรอบเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้โดยสารว่า ผู้ขับขี่ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมขับรถด้วยความประมาทสูงถึง 1,051 รายซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ลงโทษเปรียบเทียบปรับไป 806 ราย มียอดค่าปรับสูงถึง400,540 บาท
นายรณยุทธ์กล่าวอีกว่า
เห็นด้วยกับการที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาลเตรียมจัดกำลังเข้าไปตรวจสอบตามอู่รถโดยสารต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้บ้าง
ขณะที่นายศิริบูรณ์เนาว์ถิ่นสุข ผู้อำนวยการสถาบันความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิภาครัฐและเอกชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า
เห็นด้วยที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะเข้าไปตรวจสอบสภาพรถโดยสารประจำทางถึงอู่ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่อยากให้เน้นการตรวจสอบพนักงานขับรถด้วย เพราะที่ผ่านมาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมาจากคนขับประมาท การควบคุมคนขับรถโดยสารให้มีประสิทธิภาพทำได้โดยกรมการขนส่งทางบกจะต้องปรับปรุงเรื่องการออกใบอนุญาตขับขี่ต้องมีการกลั่นกรองผู้ที่จะมาขับขี่รถอย่างรอบคอบมากกว่าที่เป็นอยู่" นายศิริบูรณ์ กล่าว