ชาติภูมิ...หลวงพ่อปัญญา ผู้รังสรรค์งานในโลกธรรมะ

จากเด็กชาวนาสู่ภิกษุผู้จาริกแสวงบุญศิษย์ตถาคต 78 พรรษาในร่มกาสาวพัตร์

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุแสดงธรรมเทศนาและเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแก่พุทธศาสนิกชนมาแล้วเกือบทั่วโลก วันพฤหัสบดีที่11 พฤษภาคม 2454 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง เป็นบุตรของ นายวันและนางคล้าย เสน่ห์เจริญ มีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 2 คน และน้องสาว 1 คน ครอบครัวมีอาชีพทำนา เลี้ยงวัว ควาย ฐานะพอกินพอใช้ไม่ถึงกับร่ำรวย 

พ่อวันถือเป็นครูคนแรกของด.ช.ปั่น ตามมาด้วยหลวงน้าจากลำปำที่มาจำพรรษาที่วัดนางลาด 

เด็กชายเป็นคนหัวไว อ่านหนังสือได้เร็ว พออายุได้ 8 ขวบ เข้าเรียนชั้น ป.1 ที่ ร.ร.วัดประดู่หอม จนจบ ป.3 จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด ห่างจากบ้านนางลาดประมาณ 15 กิโลเมตร แต่เรียนจบแค่ชั้น ม.3 ก็ต้องมีเหตุจำเป็นต้องลาออกกลางคัน เมื่อพ่อป่วยหนัก ต้องออกมาช่วยทางบ้านทำนา เลี้ยงวัว ควาย 

สมัยนั้นคนที่เรียนจบชั้นม.3 สามารถเป็นครูสอนหนังสือได้แล้ว 

หลวงลุงวัดคูหาสวรรค์เห็นว่าหากปล่อยไปก็เสียดายความรู้ที่ร่ำเรียนมา จึงชักชวนปั่นไปอยู่ปีนัง ประเทศมลายู แต่พอไปอยู่เข้าจริงๆ ก็ไม่มีโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงกลับมาทำงานกรรมกรเหมืองแร่ที่ภูเก็ตและรับจ้างกรีดยาง กระทั่งมีผู้ชักชวนไปเป็นครูที่ระนอง ทว่าโชคชะตาคงลิขิตไว้แล้ว ปั่นไม่ได้งานสอนหนังสือ เพราะมีคนสมัครตัดหน้าไปแล้ว 


ระหว่างนี้ปั่นอาศัยอยู่กับพระครูพิพัฒน์สมาจารย์วัดอุปนันทาราม

อยู่มาวันหนึ่งท่านพระครูพิพัฒน์สมาจารย์สอบถามว่า สนใจบรรพชาเป็นสามเณรบ้างหรือไม่ ชายหนุ่มตอบด้วยความเต็มใจว่าอยากบวช ดังนั้น วันที่ 2 กรกฎาคม 2472 จึงมีสามเณรปั่นเกิดขึ้นและเกิดพระนักเทศน์ผู้ปราดเปรื่องในหลักธรรมคำสอนของพระตถาคต ระหว่างนี้สามเณรปั่นเป็นครูสอนนักเรียนในวัดชั้นป.1-3 ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง และ จ.ระนอง ด้วยการสอบนักธรรมตรีได้ที่ 1 ของมณฑลภูเก็ต ในหัวข้อกระทู้ธรรม "น สิยา โลกวฑฺฒโน-ไม่ควรเป็นคนรกโลก" 

อีก2 ปีต่อมา วันที่ 28 กรกฎาคม 2474 สามเณรปั่นกลับไปบวชเป็นพระภิกษุที่วัดนางลาด ต.เขาเจียก อ.เมือง จ.พัทลุง 

โดยมีพระครูจรูญกรณีย์เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาใหม่ว่า "พระปั่น ปทุมตตโร" ก่อนจะย้ายไปจำวัดศึกษาธรรมที่วัดปากนคร จ.นครศรีธรรมราช และสอบนักธรรมโท-เอก ได้ในเวลาต่อมา สามารถท่องปาฏิโมกข์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ พระปั่นขึ้นธรรมาสน์เทศน์ครั้งแรกเมื่อปี2475 ที่วัดปากนคร ในวันพระวันหนึ่ง บังเอิญเจ้าอาวาสไม่อยู่ ชาวบ้านมาทำบุญและอยากฟังเทศน์ตามปกติ จึงนิมนต์พระปั่นขึ้นธรรมาสน์ เพราะเห็นว่ามีความรู้ขั้นนักธรรมเอก แล้วท่านก็สร้างความอัศจรรย์แก่ชาวบ้านบนศาลาวัด เมื่อแสดงธรรมเทศนาได้อย่างคล่องแคล่ว โดยไม่อาศัยหนังสือใบลานเลยแม้แต่น้อย นับเป็นการเริ่มต้นชีวิตพระนักเทศน์ขึ้นครั้งแรก ณ วัดแห่งนี้

อีก2 ปีต่อมา "พระโลกนารถ" ภิกษุชาวอิตาเลียน มีแนวคิดจะเดินธุดงค์จากเมืองไทยผ่านพม่า อินเดีย และประเทศต่างๆ แถบยุโรปจนถึงอิตาลีบ้านเกิด 

เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา ประกาศชักชวนพระสงฆ์ไทยเข้าร่วมธุดงค์ พระปั่นสนใจจึงชักชวนพระสงฆ์อีก 8 รูป จากนครศรีธรรมราชและพัทลุงไปสมทบ ขณะคณะสงฆ์9 รูป เดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช มีญาติโยมติดตามไปส่งมากมายนับพันคน และที่นี่ก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง เมื่อพระปั่นแสดงปาฐกถาธรรมด้วยการยืนเทศน์บนม้านั่ง หน้าไมโครโฟน กลายเป็นพระรูปแรกที่ยืนเทศน์รูปแรกของเมืองไทย ซึ่งต่อมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากวงการสงฆ์ว่า ไม่เหมาะสม ไม่สำรวม บ้างก็ว่าไม่ได้เทศน์ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้อ่านจากใบลาน แต่เรื่องนี้ก็ได้รับการยอมรับในเวลาต่อๆ มา

แต่การเดินทางจาริกแสวงบุญก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้สุดท้ายพระปั่นจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย ล่องใต้ไปจำวัดอยู่ที่วัดอุทัย อ.เมือง จ.สงขลา 

และสร้างตำนานการบรรยายธรรมนอกใบลาน ทันยุคสมัย จนเกิดการบอกเล่ากันปากต่อปาก มีกิจนิมนต์ไปบรรยายธรรมอยู่มิได้ว่างเว้น ปี2480 หลังกลับมาจากการธุดงค์ พระปั่นได้ไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นสหายธรรมิก ร่วมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยท่านพุทธทาสกับพระปั่นเก่งกันไปคนละทาง ท่านพุทธทาสภิกขุเปรียบเหมือนผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ตีแผ่พระไตรปิฎกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ก่อให้เกิดการหลงผิดและเชื่อผิดๆ เหมือนที่ผ่านมา 

ส่วนพระปั่นมีความปราดเปรื่องเรื่องการเทศน์ใช้คำพูดเรียบง่าย เข้าใจง่าย ไม่อ้างคำบาลีพร่ำเพรื่อจนเข้าใจยาก 

มีวาทศิลป์เป็นเลิศ อธิบายหลักธรรมให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ น่าสนใจว่า พระเถระทั้งสองได้รับสมณศักดิ์เท่าเทียมกันเหมือนกันสองชั้น คือ พระเทพวิสุทธิเมธี และพระธรรมโกศาจารย์ อีก4 ปีต่อมา พระปั่นออกจากสวนโมกขพลารามขึ้นมาศึกษาภาษาบาลีที่วัดสามพระยา กทม.จนสอบได้เปรียญ 3-4 เป็นพระมหาปั่น แต่ยังไม่ทันได้เริ่มเรียนเปรียญ 5 ก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงเดินทางกลับภาคใต้ เลยไปจำพรรษาที่วัดไทยในปีนังร่วม 2 ปี กระทั่งไดัรับหนังสือจากท่านพุทธทาสภิกขุ ขอให้ไปช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนาที่เชียงใหม่ตามคำเชิญของ "เจ้าชื่น สิโรรส"


วันที่13 เมษายน 2492 พระมหาปั่นเดินทางถึงเชียงใหม่ "เจ้าชื่น สิโรรส" และคณะ คอยรับที่สถานีรถไฟเชียงใหม่

พระมหาปั่นรายงานต่อเจ้าชื่นว่า "อาตมาชื่อปัญญานันทภิกขุ รูปที่ท่านพุทธทาสส่งมาไงล่ะ" ชื่อ "ปัญญานันทภิกขุจึงเกิดขึ้นครั้งแรกที่เชียงใหม่ ที่ท่านตั้งขึ้นเอง จนกลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ แม้จะมีสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับ ผู้คนก็ยังเรียกขานแต่นามนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ท่านปัญญานันทภิกขุพักอยู่ที่วัดอุโมงค์เชิงดอยสุเทพช่วยเหลืองานพุทธนิคมของเชียงใหม่ ร่วมบริหารกิจการโรงพิมพ์ออกวารสารชาวพุทธ ร่วมกับเจ้าชื่น สิโรรส และคณะพุทธนิคม 

นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย ร่วมเดินทางไปกับคณะธรรมจาริกไปพม่า อินเดีย ศรีลังกา ลาว ตลอดจนอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ท่านปัญญานันทภิกขุยังได้รับเกียรติในฐานะตัวแทนชาวพุทธจากประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมศาสนิกชนจากทั่วโลกที่สวิตเซอร์แลนด์ถึง 3 ครั้ง

ท่านปัญญานันทภิกขุได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น"พระปัญญานันทมุนี" 

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2499 หลังจากจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์นานถึง 10 พรรษา ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ขึ้นไปเชียงใหม่เกิดความประทับใจในลีลาการสอนธรรมแนวใหม่ของท่านปัญญานันทภิกขุ จึงนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2503 

ระหว่างอยู่ในร่มกาสาวพัตร์ท่านปัญญานันทภิกขุได้แสดงธรรมเทศนาถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์ ก่อนจะได้เลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมาเป็น "พระราชนันทมุนี" และ "พระเทพวิสุทธิเมธี" 

ก่อนมรณภาพท่านปัญญานันทภิกขุได้ตั้งปณิธานที่จะทำงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของท่านคือ การสร้างอุโบสถกลางน้ำที่วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่คาดกันว่าอีก 2 ปี คงจะแล้วเสร็จ 


"อุโบสถกลางน้ำจะเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ของผู้สนใจในหลักธรรมะ เคยเห็นผู้ที่เดินทางไปเรียนหลักธรรมะจากอินเดีย จีน ถ้าอยากให้คนต่างชาติมาเรียนพุทธศาสนาในไทย ก็จะต้องสร้างแหล่งเรียนรู้ที่น่าศึกษาเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ตราบใดที่มีลมหายใจเข้าออก ต้องทำให้สำเร็จ ไม่สำเร็จ ไม่เลิก" นั่นคือปณิธานของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์