เว็บโป๊ขายบริการทางเพศควบคู่กับหมิ่นพระพุทธศาสนา ยิ่งปราบก็ยิ่งโผล่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า
ขณะนี้ได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับเว็บไซต์ซึ่งมีเนื้อหาและรูปภาพที่ลามกอนาจาร ผ่านศูนย์บริหารข้อมูลประชาชนของ วธ. หมายเลข 1765 มาจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นเว็บลามกอนาจาร มีรูปนางแบบแก้ผ้าโชว์เรือนร่างและอวัยวะเพศหญิงอย่างโจ๋งครึ่ม พร้อมเสนอขายบริการทางเพศในประเทศไทย โดยไม่ปิดกั้นการเข้าชม ในฐานะหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนจึงได้แจ้งให้คณะอนุกรรมการปราบปรามสื่อ ซึ่งมี พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ เป็นประธาน โดยได้สั่งการให้ตำรวจตั้งแต่ กองปราบปรามนครบาล อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เร่งตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิดแล้ว
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังฯกล่าวอีกว่า
นอกจากนี้ เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมแจ้งข้อมูล เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน ให้แก้ปัญหาอีกจำนวนมาก โดยในจำนวนนั้นมีเว็บไซต์ที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือเว็บพัฒน์พงศ์พุซซี่ดอทคอม ได้นำภาพสาวไทยออกมาเสนอขายตัว และนำภาพการร่วมเพศเสนอให้ชมด้วย ที่สำคัญได้นำภาพเจดีย์มาประกอบเป็นฉากด้านหลังภาพลามกอนาจาร เพื่อแสดงให้ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติทราบว่าเป็นสาวไทยแท้ ศาสนาพุทธถูกย่ำยีอยู่บ่อยๆ น่าเจ็บใจเหลือเกิน รวมทั้งยังมีเว็บประเภทนี้อีกมากมายที่นำเสนอขายบริการทางเพศสาวไทย นอกจากนี้ ตนยังได้รับฟอร์เวิร์ดเมล์ฉบับหนึ่ง ขอให้ วธ. ช่วยตรวจสอบเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าวีซีดีลามกอนาจารผ่านทางอีเมล์ โดยระบุเป็นภาพการข่มขืนสาวและความรุนแรงทางเพศ
ที่ผ่านมาการที่ชาวต่างชาติได้กระทำการลบหลู่ พระพุทธศาสนา
โดยไม่ตั้งใจและไม่เข้าใจภาษา และวัฒนธรรมไทย เรายังว่าไม่เหมาะสม แต่ในเรื่องดังกล่าว คนไทยกลับมาทำลายและดูหมิ่นพระพุทธศาสนาเสียเอง โดยนำพระเจดีย์ซึ่งเป็นโบราณสถาน เป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธมาเป็นฉากหลัง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะสงฆ์ องค์กรชาวพุทธ อย่านิ่งเฉย ออกมาช่วยกันแก้ปัญหา ที่สำคัญอยากให้กระทรวงไอซีที นำเอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ประกาศใช้เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา บังคับใช้จริงๆ เพราะที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าได้ร้องเรียนไปยังกระทรวงไอซีทีแล้ว แต่ยังเพิกเฉยไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงต้องร้องต่อมายัง วธ. ในเรื่องนี้ประชาชนได้ฝากความหวังให้กระทรวงไอซีทีช่วยแก้ไข บล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมไม่ให้เกิดขึ้น จึงอยากให้กระทรวงไอซีทีเห็นความสำคัญของปัญหาด้วย” น.ส.ลัดดากล่าว
น.ส.ลัดดากล่าวต่ออีกว่า
วธ.แม้ไม่มีกฎหมายเอา ผิดโดยตรง แต่ได้พยายามทำหน้าที่เฝ้าระวังบอกกล่าวให้ทุก คนในสังคมรับรู้ ประสานเครือข่าย ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อน แสดงพลังถึงความไม่พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เลวร้ายเหล่านี้จะหมดไป เพราะทุกคนเป็นเจ้าของวัฒนธรรม นอกจากนี้ วธ.ยังมีแนวทางจะหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ตแถวหน้าของประเทศ อาทิ ล็อกอินโฟร์ เอเชียเน็ต ทรู เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ลามก เว็บไซต์ไม่เหมาะสม รวมทั้งได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ รับทราบแล้ว
ด้าน พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ รอง ผบ.ตร.สป. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯ ได้ให้นโยบายกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้จัดการสื่อประเภทนี้อย่างเต็มที่ จึงมีการตั้ง ศูนย์ขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งศูนย์ตามจังหวัดต่างๆทุกจังหวัด เพื่อดูแลงานในส่วนนี้ เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล มีขั้นตอนดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ
1. คอยเฝ้าระวังดูแลไม่ให้มีสื่อประเภทนี้ในพื้นที่ของตัวเอง
2. หากมีข้อติดขัดสงสัยว่าภาพหรือข้อความที่เผยแพร่ออกมาขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ให้ประสานไปทางฝ่ายวิเคราะห์ ที่มีประจำอยู่ทุกศูนย์ จะมีอัยการร่วมพิจารณาว่าผิดกฎหมายหรือไม่
และ 3. การเข้าตรวจค้น จับกุม ใช้กำลังตำรวจเป็นหลัก สำหรับเว็บไซต์ต่างๆ ที่ ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังฯ ส่งมาให้นั้น ถือว่าเข้าข่ายความผิดที่ผ่านการตรวจสอบขั้นต้นมาแล้ว กองบังคับการปราบปรามความผิดทางเทคโนโลยีจะดำเนินการต่อไป และอยากฝากถึงประชาชนที่พบเห็นสื่อที่ไม่เหมาะสม ให้ช่วยแจ้งตำรวจท้องที่เพื่อจัดการต่อไปด้วย