นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผย
ภายหลังลงนามความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดทำแผนสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทยว่า จากสถิติการให้บริการในสถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 14 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2549 พบว่าเด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นถึง 45.9% มีผู้มารับบริการ 8,967 ราย มากกว่าปี 2548 ที่มี 6,148 ราย และเชื่อว่ามีเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาอีกมาก ที่ยังไม่ได้มารับการดูแล
โดยคาดว่าปัจจุบันมีเด็กและวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรม
ในระดับผิดปกติที่ต้องพบจิตแพทย์ถึง 8 แสนคน โดยปัญหาสุขภาพจิตที่พบ ได้แก่อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย พฤติกรรมเด็กกว่าวัย เกเร ผิดกฎระเบียบ อยู่ไม่สุข หุนหันพลันแล่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว และปัญหาทางเพศ ซึ่งวัยรุ่นหญิงมีปัญหามากที่สุด
ด้าน นพ.ประเวศ ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ 10 กรมสุขภาพจิต
ในฐานะผู้จัดการแผนสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รายงานของหน่วยงานอาชญากรรมและยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ ฉบับล่าสุด ระบุว่าสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยลดลงจากอันดับที่ 13 มาอยู่อันดับที่ 27 แต่ไทยกลับติดอยู่ในกลุ่ม 68 ประเทศที่มีสถิติการข่มขืนเพิ่มมากขึ้น
จากการสำรวจใน 189 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการกระทำความผิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่เดือน ต.ค. 2548-ก.ย. 2549 พบคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ อาทิ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนฆ่ากันตาย สูงถึง 33,669 คดี แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นกลุ่มเด็กเยาวชนจำนวนเท่าใด แต่จำนวนคดีข่มขืนที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจิตใจของคนในสังคม ที่ไม่รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น ไม่สนใจการกระทำต่อกัน หากวิเคราะห์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดของเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพจิตทั้งสิ้น เป็นรากฐานสำคัญในการกระตุ้นให้ใครคนใดคนหนึ่งกลายเป็นผู้ต้องหา และพบว่าก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ เด็กจะสร้างปัญหาที่ไม่ร้ายแรงมาก่อน เช่น การกลั่นแกล้งเพื่อนในชั้นเรียน และเมื่อไม่ได้รับการแก้ไข พฤติกรรมก็จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น.
ไทยฉาวสถิติคดี ข่มขืน พุ่งติดอันดับโลก
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!